กรุงเทพฯ 20 มี.ค. – กกพ.เตรียมเปิดรับยื่นโซลาร์ภาคประชาชนเดือน พ.ค.นี้ คาดเงินสะพัดปีละ 4,000 ล้านบาท
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงโครงการโซลาร์ภาคประชาชนของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า ได้กำหนดหลักการนำร่อง โดยจะรับจดทะเบียนเจ้าของบ้านและอาคารที่เป็นเจ้าของมิเตอร์ ประเภทบ้านที่อยู่อาศัยที่ต้องการติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เองสามารถเชื่อมกับระบบไฟฟ้าของประเทศ และขายผลผลิตไฟฟ้าส่วนเกินความต้องการใช้เข้าสู่ระบบได้ในขนาดการติดตั้งประมาณ 100 เมกะวัตต์ต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยจะเริ่มรับจดทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป
ขณะเดียวกันรัฐบาลจะออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ผลิตแผงโซลาเซลล์และผู้ประกอบการติดตั้งระบบในประเทศและสถาบันอาชีวศึกษาให้มีส่วนร่วมในธุรกิจการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบ คาดว่าแต่ละปีจะมีการติดตั้งประมาณ 10,000-20,000 ระบบ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ 10 ปี
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการ กกพ. กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการทำงานของโซลาร์รูฟภาคประชาชนบ้านอยู่อาศัย คือ เวลากลางวันไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟจะไหลเข้าตู้ไฟฟ้าบ้านผสมกับไฟฟ้าที่ซื้อมาจากการไฟฟ้า โดยที่ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟจะถูกนำไปใช้ก่อน หากไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟมีค่าน้อยกว่าการไฟฟ้าในบ้าน บ้านจะซื้อไฟฟ้าส่วนที่ไม่พอจากการไฟฟ้าเข้ามาเติม หากไฟฟ้าที่ผลิตได้จากการโซลาร์รูฟมีค่ามากกว่าการใช้ไฟฟ้าในบ้าน บ้านจะขายไฟฟ้าส่วนที่เกินให้แก่ไฟฟ้าในราคาหน่วยละ 1.68 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้มิเตอร์ไฟฟ้าจะสามารถอ่านและบันทึกค่าการไหลของไฟฟ้าได้ 2 ทิศทางคือ ไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าและไฟฟ้าที่ขายให้แก่การไฟฟ้า และบิลค่าไฟฟ้าจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่ซื้อไฟฟ้าและส่วนที่ขายไฟฟ้า โดย กกพ.ยืนยันจะทำโครงการนี้ให้โปร่งใสและยุติธรรมที่สุด.-สำนักข่าวไทย