กทม. 13 มี.ค. – หลังมีการประกาศใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ นักวิชาการวิเคราะห์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้น้อยลงกว่าเดิม คาดปีละไม่เกิน 10,000 ล้านบาท สุดท้ายกลับมาเป็นภาระรัฐบาลต้องจัดสรรงบลงไปช่วยเหลือเพิ่ม
หลังมีการผลักดันมากว่า 20 ปี กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้แล้วในเดือนมกราคมปี 2563 โดยแบ่งกลุ่มภาษีที่ดินออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
• ที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดจัดเก็บภาษีตามขั้นบันได หากราคาไม่เกิน 75 ล้านบาท จ่ายภาษี 0.01% หรือที่ดินราคา 1 ล้านบาท จ่ายภาษี 100 บาทต่อไร่ โดยในช่วง 3 ปีแรก ที่ดินเกษตรกรรมได้รับการยกเว้นภาษี และหากไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี
• ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดภาษี 0.02% หรือบ้านราคา 1 ล้านบาท จ่ายภาษี 200 บาทต่อปี ทั้งนี้ หากเป็นบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นภาษี ส่วนกรณีเป็นเจ้าของเฉพาะตัวบ้านอย่างเดียว ได้รับยกเว้นภาษี 10 ล้านบาท
• ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดภาษี 0.3%
• ที่ดินรกร้างว่างเปล่า คิดภาษีเริ่มต้น 0.3% และเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก 3 ปี หากยังนำมาใช้ประโยชน์ แต่รวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 3
นักวิชาการด้านภาษีกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มองว่ากฎหมายฉบับนี้นอกจากไม่ได้ช่วยเพิ่มรายได้หรือศักยภาพทางการคลังให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ยังทำให้มีรายได้จากการเก็บได้น้อยลง เนื่องจากมีอัตราการจัดเก็บภาษีต่ำ ยกเว้นลดหย่อนมากเกินไป อีกทั้งราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ต่ำกว่าราคาขายจริง คาดจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ปีละไม่เกิน 10,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งยังไม่รวมถึงการลดหย่อนยกเว้นต่างๆ ที่จะทำให้รายได้ลดลงไปอีก สุดท้ายอาจเป็นภาระรัฐบาลต้องจัดสรรงบลงไปช่วยเหลือ อปท.เพิ่มขึ้น
อีกทั้งยังฝากถึงรัฐบาลใหม่ให้เข้ามาช่วยปรับแก้กฎหมายฉบับนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับท้องถิ่นและรัฐบาล เช่น การยกเว้นลดหย่อนการเก็บภาษีบ้านหลังแรกจากไม่เกิน 50 ล้านบาท เหลือไม่เกิน 5 ล้าน การลดหย่อนยกเว้นเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมจากไม่เกิน 50 ล้านบาท เหลือไม่เกิน 5-10 ล้านบาท ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า ต้องพิจารณาเก็บภาษีในอัตราที่เหมาะสม ที่จะกระตุ้นทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ และกระจายการถือครองที่ดินอย่างแท้จริง ที่สำคัญคือ ต้องหาวิธีอุดช่องโหว่ในการเลี่ยงภาษี โดยเฉพาะในกลุ่มที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก
นอกจากการปรับแก้กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว ยังเสนอให้มีกลไกการตรวจสอบอย่างโปร่งใส เพื่อลดการกระจุกตัวผูกขาดการถือครองที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน. – สำนักข่าวไทย