กรุงเทพฯ 29 ส.ค. – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (29 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีและผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เดินทางร่วมพิธีเปิดขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่ เส้นทางกรุงเทพฯ-นครปฐม โดยกำหนดการนายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเยี่ยมชมรถจักรใหม่พิกัดสูง และโบกี้บรรทุกคอนเทนเนอร์ บริเวณชานชาลาที่ 6 ก่อนที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะกล่าวรายงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งระบบรางและการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินชมนิทรรศการระบบราง ชมหัวรถจักรไอน้ำ บริเวณชานชาลาที่ 3
หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ทำพิธีลั่นระฆัง เพื่อปล่อยขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่เที่ยวปฐมฤกษ์ และร่วมโดยสารไปกับขบวนรถดังกล่าว โดยภายในขบวนมีการชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับรถรุ่นใหม่นี้ ก่อนที่จะเดินทางถึงสถานีบางบำหรุ เวลา 10.05 น. ถือเป็นการเสร็จสิ้นการตรวจเยี่ยม นายกรัฐมนตรีเดินทางกลับโดยรถยนต์ และขบวนรถเดินทางถึงสถานีปลายทางนครปฐม เวลา 11.10 น.
นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานโดยระบุถึงความตั้งใจของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่จะผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางให้เกิดการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างภูมิภาคและระหว่างประเทศในอนาคต และขอทุกฝ่ายทั้งผู้บริหาร รฟท. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. และพนักงานรถไฟทุกคน ร่วมมือกันพัฒนาองค์กรให้เดินไปข้างหน้า ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะมีการพัฒนาโครงการในอนาคต ไม่อยากให้ทุกฝ่ายมองแค่ประเด็นว่าโครงการจะมีปัญหาการทุจริต และส่งผลให้โครงการดังกล่าวไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยยืนยันว่า รัฐบาลจะดำเนินการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส และลงโทษผู้ที่ทำการทุจริตทุกโครงการอย่างเด็ดขาด
สำหรับรถโดยสารรุ่นใหม่บริการเชิงพาณิชย์ทั้ง 115 คัน รฟท.ได้รับมอบรถโดยสารจากคู่สัญญา บริษัท CNR (China CNR Corporation Limited) มีทั้งหมด 115 คัน แบ่งเป็นการจัดหารถพ่วงเป็นรถปรับอากาศนั่งและนอน ชั้นที่ 1 (บนอ.ป.) 9 คัน, รถปรับอากาศนั่งและนอน ชั้นที่ 2 (บนท.ป.) 88 คัน ในจำนวนนี้มีรถสำหรับผู้พิการ 9 คัน, รถโบกี้ขายอาหารปรับอากาศ (บกข.ป.) 9 คัน และรถกำลังไฟฟ้า (Power Car) 9 คัน ทั้งหมดแบ่งเป็นรถสำหรับใช้งาน 104 คัน ส่วนอีก 11 คัน ใช้เป็นรถสำรอง รวมทั้งสิ้น 115 คัน โดย รฟท.จะรับมอบครบทั้งหมดในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ซึ่ง รฟท.มีแผนนำรถโดยสารชุดใหม่ทั้งหมดไปให้บริการเป็นขบวนรถด่วนพิเศษ 4 เส้นทาง ระหว่างสถานีกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, อุบลราชธานี, หนองคาย และหาดใหญ่ ไป-กลับ วันละ 2 ขบวน/เส้นทาง รวม 8 ขบวน ซึ่งจะเปิดให้บริการครบทั้ง 4 เส้นทาง ในปีงบประมาณ 2560 โดยวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากการก่อสร้างทางคู่เสร็จ สามารถถึงที่หมายปลายทางเร็วขึ้นเฉลี่ย 3 ชั่วโมง คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณปีละ 1.073 ล้านคน และก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ยประมาณปีละ 1,250.9 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนร้อยละ 11.0.-สำนักข่าวไทย