กรุงเทพฯ 29 ส.ค. – บอร์ด คปภ.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ประกันภัยทางทะเลฉบับประวัติศาสตร์ของไทย เลขาฯ คปภ.ชี้เป็นกลไกสำคัญช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทยด้านอุตสาหกรรมประกันภัยทางทะเล การขนส่ง การเดินเรือทะเลให้แข่งขันในเวทีโลกได้
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกันภัยธุรกิจประกันภัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. … และให้สำนักงาน คปภ. เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ เนื่องจากการประกันภัยทางทะเลเป็นธุรกรรมที่สำคัญประเภทหนึ่งในระบบการค้าระหว่างประเทศ การขนส่งสินค้า การเดินเรือในประเทศ และระหว่างประเทศ แต่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายประกันภัยทางทะเลเป็นของตนเองไว้ใช้ เมื่อเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยทางทะเล ศาลฎีกาได้นำกฎหมายประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษมาปรับใช้ในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป ตั้งแต่ปี 2496 ซึ่งสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายของต่างประเทศ จึงมีความยุ่งยากในการนำสืบหลักกฎหมายและมีบางส่วนที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับประเทศไทย ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้การประกันภัยทางทะเลอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเฉพาะ แยกจากกฎหมายประกันภัยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การยกร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเลนี้จะทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายประกันภัยทางทะเลของตนเองเป็นครั้งแรก
เลขาฯ คปภ. กล่าวว่า ถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญที่จะเป็นกลไกในการช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทยด้านอุตสาหกรรมประกันภัยทางทะเลและขนส่งให้แข่งขันในเวทีโลกได้ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทของศาล เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบรรทัดฐานในการใช้การตีความกฎหมายประกันภัยทางทะเลของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคู่ความในคดีที่ไม่ต้องนำสืบหลักกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนในผลแห่งคดี รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมืออันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมประสิทธิภาพการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสำนักงาน คปภ. อีกด้วย
“เดิมกรมเจ้าท่าได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเล พ.ศ. … มาก่อน แต่จากการประสานความร่วมมือ กรมเจ้าท่าเห็นชอบให้สำนักงาน คปภ.เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเลฉบับนี้ โดยยินดีร่วมเป็นคณะทำงานด้วย” นายสุทธิพล กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษสิทธิโชค ศรีเจริญ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันภัยทางทะเล กล่าวว่า ขอขอบคุณ คปภ.ที่ช่วยสานฝันให้เป็นจริง เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนรอคอยมานานกว่า 30 ปี จะเป็นเครื่องมือสำคัญและจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาต่อยอดระบบการค้า การขนส่ง การลงทุน และการศึกษาของประเทศไทย อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต.-สำนักข่าวไทย