กรุงเทพฯ 5 มี.ค. – บางกอกแอร์เวย์สตั้งเป้ารายได้ปี 62
ผู้โดยสารเติบโตร้อยละ 3.5 เดินหน้าขยายเส้นทางบินไปกลุ่มประเทศ CLMV
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท
การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2562 บริษัทฯ
ตั้งเป้ารายได้ผู้โดยสารเติบโตร้อยละ 3.5 อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ
70 และการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ประมาณ 6.16 ล้านคน โดยปีนี้ยังคงเน้นกลยุทธ์การขยายโครงข่ายเส้นทางการบิน
เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารและสายการบินพันธมิตร
ตลอดจนบุกเบิกการเปิดเส้นทางบินใหม่ที่ยังไม่มีสายการบินอื่นให้บริการ
โดยใช้กรุงเทพฯ สมุย และเชียงใหม่
เป็นศูนย์กลางทางการบินให้ครอบคลุมไปยังเมืองสำคัญหรือแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของภูมิภาคเอเชีย
สำหรับเส้นทางบินแรกที่ทำการบินไปแล้วเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา
คือ กรุงเทพฯ-คัมรัน (เวียดนาม) ให้บริการสัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน
ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ319 และเตรียมเปิดอีก 2
เส้นทางบินเชื่อมจากจังหวัดเชียงใหม่
ออกไปยังเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่
เชียงใหม่-กระบี่ (เที่ยวเดียว) ให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เริ่มวันที่ 31
มีนาคม 2562 และจะปรับเป็นให้บริการวันละ
1 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป และเส้นทาง
เชียงใหม่-หลวงพระบาง (สปป. ลาว) ให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการ 2
เมษายน 2562 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินยอดนิยม
อาทิ กรุงเทพฯ-ดานัง (เวียดนาม) จาก 7 เที่ยวบิน ต่อสัปดาห์ เป็น 14
เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่ม 1 มีนาคม 2562 และ กระบี่-กรุงเทพฯ จาก 21
เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 28 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่ม 31 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป
ส่วนการเพิ่มเครือข่ายพันธมิตรทางการบินผ่านการทำข้อตกลงเที่ยวบินร่วมกับสายการบินชั้นนำปี
2562 บริษัทฯ มีแผนที่จะลงนามข้อตกลงเที่ยวบินร่วมกับสายการบินเพิ่มอีก 2-3
สายการบิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบันบริษัทฯ
มีข้อตกลงเที่ยวบินร่วมกับสายการบินชั้นนำจากทั่วโลก 27 สายการบิน
โดยสายการบินล่าสุด คือ ฟิลิปปินส์แอร์ไลน์
ขณะที่แผนการลงทุนปี 2562 บริษัทฯ มีแผนลงทุนในโครงการด้านอากาศยาน
วงเงินรวม 1,815 ล้านบาท อาทิ การจัดซื้อเครื่องบินแบบเอทีอาร์ 72-600 จำนวน 2 ลำ
โดยมีแผนรับเครื่องบินในไตรมาสที่ 2
การจัดซื้ออะไหล่เครื่องบินสำรองเพื่อรองรับการซ่อมบำรุง การปรับปรุงสภาพภายในของเครื่องบินแบบแอร์บัส
ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี (2562-2564) แผนลงทุนในโครงการด้านท่าอากาศยาน
อาทิ โครงการขยายและพัฒนาสนามบินสุโขทัย ซึ่งมีวงเงินรวม 958 ล้านบาท
ในการสร้างโรงซ่อมบำรุงอากาศยานและพัฒนาพื้นที่ภายในสนามบิน
โครงการขยายและพัฒนาสนามบินตราด วงเงินรวม 334 ล้านบาท
เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่สนามบินและขยายทางวิ่งของเครื่องบิน .-สำนักข่าวไทย