กรุงเทพฯ 4 มี.ค. – สถาบัน GIT ดึงผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ 11 ราย ขายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Zilingo หวังดันผู้ค้าให้ได้ 100 รายปีนี้
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) GIT กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณการทำธุรกิจ e-Commerce เป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าและธุรกิจบริการมียอดการค้าเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้ธุรกิจการซื้อขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในระบบการค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น ไปด้วย ดังนั้น GIT จะร่วมมือกับ Zilingo เพื่อจัดอบรมโครงการการพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่การทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างความรับรู้และความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อสินค้าผ่านใบรับรองคุณภาพของ GIT และยังสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนด้านอัญมณีและเครื่องประดับให้แข่งขันได้ ซึ่งจะนำร่องผลักดันผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) 11 ราย ให้สามารถจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับบนแพลตฟอร์ม Zilingo จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก โดย GIT เตรียมผลักดันผู้ประกอบการขึ้นขายสินค้าออนไลน์ 100 รายให้ได้ภายในปี 2562
ทั้งนี้ ในปี 2561 ที่ผ่านมาอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป มีมูลค่าส่งออก 7,606 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.96 โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับอัญมณีเทียม และเพชร ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.72 เยอรมณี เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.24 อินเดียเพิ่มขึ้น ร้อยละ2.23 เบลเยียมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.19 ขณะที่ตลาดฮ่องกงติดลบร้อยละ 1.17 โดยตลาดส่งออกรองที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ กาตาร์ร้อยละ 103.49 สิงคโปร์ร้อยละ 38.92 เกาหลีใต้ ร้อยละ 36.98 ลิกเทนสไตล์ ร้อยละ 25.04 อิสราเอลร้อยละ 20.61 เป็นต้น
นายพ้อง สมิทธี ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์ บริษัท สมิทธี จิวเวลรี่ ผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับที่ทำจากเงิน ทอง โลหะผสมอัญมณีฯ ภายใต้แบรนด์ “พ้องสมิทธี” (PONK SMITHI) 1 ในร้านค้าสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า การค้าออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งที่สำคัญและมีบทบาทมากในปัจจุบัน เป็นตลาดหลักในการจำหน่ายสินค้าทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่อัญมณีและเครื่องประดับ ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ทุกที่ และทุกเวลา
อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าเอกชนหลายรายร่วมทั่งตนสนใจที่จะจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ดังนั้น เมื่อ GIT จัดโครงการนี้ขึ้นมาสนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เนื่องจากสินค้าหลักที่จำหน่าย คือ โมกุเม่ กาเน่ เครื่องประดับที่ใช้เทคนิคในการผลิตลวดลายโลหะ ที่อบโลหะตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ให้ติดกันด้วยร้อนและความดันสูง ซึ่งจัดว่าเป็นเครื่องประดับแนวใหม่ที่ยังไม่ได้แพร่หลายมากนักในหมู่คนไทย และการที่จำหน่ายออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Zilingo พร้อมใบรับรองของ GIT จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อสินค้าได้ว่า สินค้าที่ซื้อไปนั้นมีมาตรฐานและคุณภาพ ทั้งนี้ จึงอยากขอบคุณ GIT ที่ได้จัดโครงการที่ดีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ได้ และเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการไทยเพิ่มเติมอีกช่องทางหนึ่งด้วย.-สำนักข่าวไทย