กรุงเทพฯ 28 ก.พ. – “กฤษฎา” เดินหน้าปฏิรูปภาคเกษตร ชูแบบวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ เพิ่มรายได้เกษตรกร ตั้งเป้า 1 แปลงใหญ่ต่อ 1 ภูมิภาค
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการปลัดกระทรวงฯ ให้ปรับปรุงการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ให้เป็นรูปแบบ “วิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่” โดยจัดตั้งองค์กรที่มีทั้งเกษตรกรภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชนร่วมกันในการบริหารจัดการ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับกระทรวงฯ มอบหมายให้ปลัดฯ เป็นหัวหน้าคณะทำงานและกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเลขานุการ และมีกรมหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่าต่าง ๆ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นคณะกรรมการอำนวยการเพื่อวางแผนและกำหนดแนวทางการบริหารจัดการที่ครอบคลุมทั้งประเทศ สำหรับในระดับจังหวัดให้ใช้โครงสร้างคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อพก.จ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าฯ เป็นประธาน อพก.ขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการในรูปวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ในระดับพื้นที่ โดยมีเกษตรจังหวัดเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ ทั้งนี้ ให้จัดทำโครงสร้างองค์กรบริหารโครงการฯ ให้เสร็จภายใน 1 เดือน แล้วจัดทำแผนปฏิบัติการและแนวทางการบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรมภายใน 12 เดือน
ทั้งนี้ ขอให้ อพก.จ. ประสานงานกับปฏิรูปที่ดินจังหวัดและหรือเกษตรจังหวัดหรือสหกรณ์จังหวัด เพื่อสำรวจพื้นที่ สปก. พื้นที่ตามโครงการจัดที่ดินทำกินแห่งชาติ (คทช.) พื้นที่ซึ่งเกษตรกรได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรอยู่แล้ว พื้นที่ซึ่งมีเกษตรกรรวมตัวกันทำเกษตรกรรมในรูปแบบแปลงใหญ่อยู่แล้วหลาย ๆ แปลงในพื้นที่อำเภอเดียวกัน โดยเกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการ สำหรับเป้าหมายของโครงการบริหารจัดการในรูปวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่กำหนดให้มีไม่น้อยกว่า 1 แปลงใหญ่ต่อ 1 ภูมิภาคตามการแบ่งพื้นที่ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่กำหนดไว้ 6 ภูมิภาค ควรมีขนาดพื้นที่ติดกันรวมแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ขึ้นไป เพื่อก่อให้เกิดการประหยัดในการผลิตต่อขนาดพื้นที่ลงทุน (Economy of Scale) ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มตลาดต้องการสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น จึงให้พิจารณาเลือกวิธีการทำเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เกษตรอินทรีย์ (Organic) การทำเกษตรแบบผสมผสาน รวมถึงเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่และคุณภาพดินตามแผนที่จัดการด้านเกษตรกรรม (Agri-Map) ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปสู่การทำเกษตรชนิดใหม่ที่ลงทุนน้อย ให้ผลตอบแทนสูง นำความรู้ทางเทคโนโลยี ตลอดจนเครื่องมือและเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตเพื่อทดแทนการใช้แรงงาน ผลผลิตที่ได้ต้องสามารถตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งผลิต กระบวนการผลิตถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ละเมิดกติกาสากลด้วย ทั้งนี้ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประสานกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อร่วมกันจัดวิทยากรมาให้ความรู้แก่ผู้จัดการเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ทราบถึงแนวโน้มความต้องการและราคาสินค้าเกษตรแต่ละชนิดก่อนเริ่มฤดูการผลิตปี 62 เช่น เปลี่ยนการทำนามาปลูกพืชตระกูลถั่วหรือพืชผัก ลดพื้นที่การปลูกยางพาราไปปลูกกาแฟ โกโก้ กล้วยหอม หรือพืชอื่น ๆ แซมในสวนยางพารา เป็น
สำหรับการบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่นั้น เป็นแบบมีส่วนร่วมที่ทันสมัย โดยให้เกษตรอำเภอร่วมกับเจ้าหน้าที่สหกรณ์จังหวัดรวมกลุ่มเกษตรกรเจ้าของที่ดินเพื่อจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชน แล้วคัดเลือกเกษตรกรเจ้าของที่ดินที่มีศักยภาพหรือคัดเลือกบุตรหลานของเกษตรกรเจ้าของที่ดินต้องการทำการเกษตรเข้าทอบรมหลักสูตรเกษตรกรสมัยใหม่ (Smart Farmers) มาเป็นผู้จัดการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ อีกทั้งประสานงานกับภาคเอกชนมาจัดหลักสูตรอบรม โดยเน้นวิธีการจัดการสมัยใหม่แบบเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) โดยอาจปรับเป็นการทำธุรกิจที่ลงทุนร่วมกันระหว่างเกษตรกรเจ้าของที่ดินกับภาคเอกชนเหมือนการร่วมกันทำนาด้วยการลงแขกเช่นในอดีต หรือให้เอกชนลงทุนโดยออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องมือ เครื่องจักร แนะนำวิธีการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ ขณะที่เกษตรกรเจ้าของที่ดินหรือบุตรหลานทำหน้าที่เป็นผู้จัดการธุรกิจการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อดำเนินการผลิตโดยให้สหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชนรวบรวมผลผลิตขายให้เอกชนหรือนำไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตของเกษตรแปลงใหญ่ หรือประสานให้ภาคเอกชนมาตั้งโรงงานแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรหรือเปิดเป็นโรงรวบรวมผลผลิตเพื่อติดต่อหาตลาดส่งขายเองหรือวางขายในระบบออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ให้มีแบ่งปันผลประโยชน์ออกเป็น 3 ส่วนระหว่างเกษตรกรเจ้าของที่ดิน สหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน และภาคเอกชนที่มาร่วมลงทุนดำเนินการในกิจการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ให้เป็นไปตามหลักความเป็นธรรมภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560
นายกฤษฎา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินนโยบายการจัดทำแผนการผลิตภาคการเกษตร (Agricultural Production Plan) ภายใต้แนวทาง “การตลาดนำการผลิต” และ “โครงการเกษตรแปลงใหญ่” ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกัน โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ การวางแผนการผลิตทางการเกษตรทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมงแต่ละชนิด ตามความต้องการของตลาด หรือการกำหนดโควตาทำเกษตรกรรมให้เหมาะสมว่าจะทำเกษตรกรรมอะไร จำนวนเท่าไร เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรสมดุลกับความต้องการของตลาด เพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
ทั้งนี้ มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร (มก.อช.) กรมชลประทาน องค์การตลาด (อตก.) ฯลฯ ร่วมกันวางแนวทางและส่งเสริมการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ในการผลิต การคัดเลือกพันธุ์ การจัดการแปลง การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร พร้อมกับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็นให้กับเกษตรกร ส่วนการลงทุนนั้น ขอให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการลงทุนและสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้ สำหรับการประเมินผลนั้น ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ร่วมกับสถาบันการศึกษาวางแผนเพื่อดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลธุรกิจการเกษตรแปลงใหญ่เป็นรายแปลงเกี่ยวกับผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิต การใช้เครื่องจักรกล ชนิดของพืช/ปศุสัตว์/สัตว์น้ำพร้อมระบุสายพันธุ์และข้อมูลสภาพเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรสมาชิกธุรกิจการเกษตรแปลงใหญ่ทุกคนและทุกครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการว่ามีรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตร หนี้สิ้น โครงการอื่นของภาครัฐที่เข้าร่วม ในทุกพื้นที่ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ และเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวในแต่ละปี เพื่อสร้างฐานข้อมูลไว้ใช้เสนอแนะแนวทางขยายผลโครงการฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ.-สำนักข่าวไทย