SME D Bank ดึงพันธมิตรดันนวัตกรรม EV ช่วยพี่วิน

กรุงเทพฯ 28 ก.พ. – หอการค้าไทยเผยผลสำรวจพี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างหลายเหตุผลแบกภาระเหนื่อย ไร้เงินออม ด้าน SME D Bank ดึงพันธมิตรดันนวัตกรรม EV หวังยกระดับอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้าง


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าผลการสำรวจสถานภาพผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยกรมการขนส่งทางบก ระบุจำนวนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับใบอนุญาตทั่วประเทศ 185,303 ราย ส่วนปัญหาที่ผู้ใช้บริการพบมาก ได้แก่ การทะเลาะวิวาท แย่งลูกค้าระหว่างวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างกับ Grab bike ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน บอกค่าโดยสารเกินควร วินรถเถื่อนไม่มีใบอนุญาต บริการไม่สุภาพ และจอดรถบนทางเท้ากีดขวางทางจราจร  

ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่ากว่าร้อยละ 70.06 จดทะเบียนถูกต้องมีรถเป็นของตัวเอง อายุเฉลี่ยของผู้ประกอบอาชีพนี้อยู่ที่ 39 ปี ทำอาชีพนี้มาแล้วเฉลี่ย 8 ปี แต่ละเดือนต้องขี่รถเพื่อหารายได้ถึง 25 วัน เฉลี่ยวันละ 41 เที่ยว เฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน โดยยึดการขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นอาชีพหลัก เพียงอาชีพเดียวมีรายได้เฉลี่ย 974.81 บาทต่อวัน หรือ 24,370.25 บาทต่อเดือน แต่รายได้ดังกล่าวต้องนำไปดูแลสมาชิกครอบครัวเฉลี่ย 4 คน โดยไม่มีการวางแผนการออม เพราะมีภาระหนี้ประมาณ 185,858 บาท อัตราการผ่อนเฉลี่ย 5,266.30 บาทต่อเดือน ส่วนทัศนะเกี่ยวกับการกู้เงินในอนาคต กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 26.92 อยากกู้ในระบบเพื่อซื้อรถจักรยานยนต์คันใหม่


อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความต้องการกู้ภายใน 1 ปี นับจากปัจจุบันกว่าร้อยละ 31.66 มีความต้องการจะกู้ เพื่อไปชำระหนี้เก่า ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเสริมสภาพคล่อง แทบทั้งหมดต้องการกู้ในระบบ วงเงินเฉลี่ย 230,889.49 บาท โดยกลุ่มที่ต้องการกู้ร้อยละ 53.02 ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ ด้วยเหตุผล ขาดหลักประกัน ไม่มีประวัติเคลื่อนไหวทางการเงิน และไม่รู้จะติดต่อธนาคารอย่างไร และผู้ประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้าง มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 11,633.64 บาทต่อเดือน โดย 3 อันดับแรก คือ ค่าน้ำมัน ค่าผ่อนรถจักรยานยนต์ และค่าเช่าเสื้อ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวถือเป็นภาระหนักระดับปานกลางถึงหนักมาก รวมกันถึงร้อยละ 90.29 และส่วนใหญ่ยังไม่ได้ใช้แอพพลิเคชันเพื่อบริการรับส่งผู้โดยสาร  เนื่องจากมีขั้นตอนและระเบียบยุ่งยาก ใช้แอพพลิเคชันไม่เป็น และมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งการไม่ใช้แอพพลิเคชัน ส่งผลกระทบลูกค้าไม่เดินมาที่วิน และจำนวนลูกค้าลดลง ส่วนกลุ่มที่ใช้แอพพลิเคชันบริการลูกค้า บอกว่า มีรายได้เพิ่มขึ้น 1,741.95 บาทต่อเดือน และหากประสบอุบัติเหตุ หรือมีเหตุจำเป็นไม่สามารถขี่รถจักรยานยนต์ได้ชั่วคราว โดยบอกว่าจะกระทบปัญหาการเงินที่จะขาดรายได้

ส่วนกรณีหากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีโครงการค้ำประกันเงินกู้โดย SME D Bank เพื่อซื้อรถจักรยานยนต์คันใหม่ เห็นว่าเป็นโครงการของภาครัฐที่น่าสนใจ ดอกเบี้ยถูก ลดค่าใช้จ่าย ได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยสามารถผ่อนได้สูงสุด 151.12 บาทต่อวัน พร้อมกันนี้มีการเสนอแนะต้องการภาครัฐดูแล คือ 1.ควบคุมราคาสินค้า เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเช่าเสื้อวิน ค่าสินค้าทั่วไป เป็นต้น 2.ปรับราคาค่าโดยสาร 3.จัดระเบียบและบทลงโทษให้เคร่งครัด และ 4.สนับสนุนให้มีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและเข้าถึงง่ายได้ก็เชื่อว่าอัตราค่ารถรับจ้างจะไม่แพงขึ้นและเชื่อว่าเมื่อเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าได้จะลดปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ให้น้อยลงด้วย

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า จากจำนวนผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างประมาณ 180,000 ราย ถือว่าอาชีพขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีความสำคัญ และควรยกระดับมาตรฐาน ทั้งด้านคุณภาพรถ บริการ และความปลอดภัย เนื่องจากต้องทำงานหนักเฉลี่ยขี่รถกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มีสวัสดิการจากภาครัฐรองรับ เหลือรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเพียง 12,736.61 บาทต่อเดือน แต่มีภาระดูแลสมาชิกครอบครัวเฉลี่ยถึง 4 คนจนมีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง ซึ่งธนาคารจะนำผลสำรวจ และข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างไปพัฒนามาตรการช่วยเหลือ เช่น ส่งเสริมความรู้ให้นำแอพพลิเคชันมาเพิ่มลูกค้า รวมถึงลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม


 ทั้งนี้ SME D Bank ได้ร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ บสย. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  สถาบันยานยนต์ และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมสนับสนุนการใช้นวัตกรรมยานยนต์ (EV) หรือพาหนะไฟฟ้า  ยกระดับปรับเปลี่ยนรถ สำหรับผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานและสร้างประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะทางอากาศ และทางเสียง ด้วยโครงการ “3 เติม” ให้กับผู้ประกอบการด้านขนส่งสาธารณะใช้นวัตกรรม EV ยกระดับอาชีพ “เติมทักษะ” ผ่านการอบรมความรู้ต่างๆ  “เติมทุน” ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ระยะกู้สูงสุด 7 ปี บุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ย 3ปีแรกเพียงร้อยละ  0.42 ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย และหากยกระดับเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยจะถูกลงไปอีก โดย 3 ปีแรกเหลือเพียงร้อยละ  0.25 ต่อเดือนเท่านั้น ส่วนปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย  สามารถใช้เป็นทุนหมุนเวียน ลงทุนนวัตกรรม  และปรับปรุงธุรกิจให้มีความทันสมัย ที่จะสามารถเข้ามาช่วยเหลือเติมเต็มให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างหันมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบได้มากขึ้นอนาคต.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี