สอน.เตรียมขอรัฐจัดสินเชื่อรถตัดอ้อยแก้ปัญหาไฟไหม้

กรุงเทพฯ 13 ก.พ. – สอน.ยืนยันเป้าหมายเดิมจะไม่มีการเผาไร่อ้อยส่งหีบปี 2564 พร้อมใส่มาตรการช่วยเหลือ เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติสินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ดอกเบี้ยร้อยละ 1 เท่ากับเอสเอ็มอี จากปัจจุบันคิดร้อยละ 2 โดยขอรัฐชดเชยเพิ่มผ่อน 7 ปี อาจเพิ่มเป็น 10 ปี 



นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน.คงเป้าหมายไม่มีอ้อยไฟไหม้ปี 2564 ซึ่งเป้าหมายนี้ตั้งในช่วงที่ประเทศไทยมีผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตละประมาณ 90 ล้านตันอ้อยเท่านั้น แม้ขณะนี้ผลผลิตอ้อยจะเพิ่มเป็นฤดูการผลิตปีละกว่า 120 ล้านตันแล้วก็ตาม ซึ่งสถานการณ์อ้อยไฟไหม้ ล่าสุดวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ร้อยละ 57.05 ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2561 ที่อยู่ในระดับร้อยละ 60.45 ลดลงร้อยละ 3.4 


เลขาฯ สอน. กล่าวว่า เพื่อให้เป้าหมายไม่มีอ้อยไฟไหม้ปี 2564 เป็นไปได้ จึงเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือ โดยจะเสนอกระทรวงอุตสาหกรรมให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 2559-2561 ต่อเนื่องในปี 2562-2564 โดยจัดสรรวงเงินเพิ่มอีกปีละ 2,000 ล้านบาท รวม 6,000 ล้านบาท แต่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง จากเดิมเกษตรกรผู้กู้รับภาระร้อยละ 2 ต่อปี เหลือร้อยละ 1 ต่อปี โดยภาครัฐชดเชยเพิ่มขึ้น โดยพิจารณาใช้เงินจากกองทุนสนับสนุนเอสเอ็มอีเข้ามาช่วยเหลือ เพราะถือเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคเกษตรอุตสาหกรรม พร้อมพิจารณาขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อจากเดิม 7 ปี อาจขยายเป็น 10 ปี ควบคู่ไปกับการลดดอกเบี้ย ซึ่งสินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เห็นชอบแล้ว

นางวรวรรณ กล่าวว่า หากไม่แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้แล้ว เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาชุมชนรอบข้าง ขณะที่โรงงานน้ำตาลก็ไม่ต้องการอ้อยไฟไหม้เช่นกัน เพราะคุณภาพลดลง ชาวไร่อ้อยก็ถูกตัดราคาลงจากคุณภาพอ้อยที่ลดลงจากไฟไหม้ตันละ 30 บาท

นอกจากนี้ ในการประชุมร่วมกับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลวันนี้ (13 ก.พ.) ทาง สอน.ยังเสนอมาตรการลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยระยะสั้นขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยสดเข้าหีบในสัดส่วนร้อยละ 60 และอ้อยไฟไหม้ร้อยละ 40 ต่อวัน และให้มีมาตรการจูงใจ หรือส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดอ้อยไหม้ , ขอความร่วมโรงงานน้ำตาล สมาคมชาวไร่อ้อย และหน่วยงานในท้องถิ่นบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด 


ส่วนมาตรการระยะยาว ขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาลส่งเสริมชาวไร่คู่สัญญาทำแปลงอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรอย่างครบวงจร หรือทำเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานหรือลดต้นทุนการผลิต, ขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาล ส่งเสริมโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร หรือจัดทำโครงการเงินช่วยเหลือดอกเบี้ยต่ำ การค้ำประกันแบบกลุ่ม สำหรับชาวไร่อ้อยคู่สัญญารายเล็ก หรือโครงการสนับสนุนเครื่องจักรสำหรับการเกษตรครบวงจรให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เช่น  รถตัดอ้อยขนาดเล็ก เป็นต้น เบื้องต้นเสนอเครื่องตัดอ้อยที่เรียกว่า RAPTOR เข้ามาใช้แทนรถตัดอ้อยสำหรับเกษตรกรที่ไม่มีกำลังซื้อรถตัดอ้อย เพราะมีราคาถูกกว่ารถตัดอ้อยโดยมีราคาเพียงเครื่องละ 200,000-300,000 บาท และยังขอให้โรงงานน้ำตาลจัดทำแผนการลดไฟไหม้แต่ละฤดูกาลผลิตโดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่น

นายมนตรี คำพล ประธานสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอดีตผลผลิตอ้อยแต่ละฤดูกาลผลิตมีน้อยกว่า 100 ล้านตันอ้อย แต่ฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 เพิ่มขึ้นถึง 134.5 ล้านตันอ้อย ชาวไร่อ้อยต้องประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงานที่ใช้ในการตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล จากอดีตใช้แรงงานจากภาคอีสานตัดอ้อยภาคกลาง ต่อมาแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมก็หันไปใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ กัมพูชา เมียนมา และลาว  แต่ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านมีการลงทุนภาคอุตสาหกรรมแรงงานบางส่วนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน แรงงานที่เข้ามาทำงานในไร่อ้อยจึงลดน้อยลง จึงจำเป็นต้องเผาไร่อ้อย เพื่อช่วยกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อย เนื่องจากมีเงื่อนเวลาเก็บเกี่ยวส่งเข้าโรงงานน้ำตาลเพื่อหีบในระยะเวลา 120 วัน ซึ่งปีที่ผ่านมาประสบปัญหาฝนตกตัดอ้อยไม่ทันมีอ้อยตกค้างในไร่ถึง 5 ล้านตันอ้อย อีกทั้งการตัดอ้อยสดแรงงานทำได้เพียง 100 กว่ามัดใน 1 วัน แต่ถ้าหากเผาด้วยไฟจะทำได้ต่อคนเพิ่มเป็นประมาณ 300 มัดต่อวัน มากกว่า 3 เท่าตัว ทั้งนี้ เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้เช่นกัน โดยต้องการเครื่องจักรเข้ามาใช้ ต้องการสินเชื่อสนับสนุนปีละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาทเป็นต้น 

นายเลียบ บุญเชื่อง ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ด้วยระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยแต่ละฤดูกาลที่มีระยะเวลาจำกัดและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพื่อช่วยลดอ้อยไฟไหม้ เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องการเครื่องจักรเข้ามาเสริมในกระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย แต่ไม่ได้เหมาะสมกับทุกพื้นที่ปลูกอ้อย ต่างจากต่างประเทศที่มีรางรถไฟเข้าถึงไร่อ้อยขนส่งสะดวก ทั้งนี้ ชาวไร่อ้อยไม่ต้องการให้อ้อยไฟไหม้แต่มีความจำเป็น แต่ปัจจุบันอ้อยไฟไหม้ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ

นายถนอม โพธิกุล นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยพยายามไม่ใช้วิธีการเผาไร่อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย แต่ด้วยข้อจำกัดแรงงานและระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่จำกัด และชาวไร่อ้อยที่นำอ้อยไฟไหม้ส่งโรงงานยังถูกตัดราคาลงตันละ 30 บาทด้วย  จาก 700 บาทต่อตันอ้อยเหลือ 670 บาทต่อตันอ้อย ดังนั้น แนวทางแก้ไข คือ การนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อย แต่ราคาสูงคันละ 8-12 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรมีความสามารถจำกัดในการเป็นเจ้าของได้ จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำต่อไป.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ค้นบ้านสามารถ

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ” คดีฟอกเงินดิไอคอน

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” คดีฟอกเงินดิไอคอน หลังพบเงิน “บอสดิไอคอน” โอนเข้าบัญชีแม่ของนายสามารถ

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง

คะแนนไม่เป็นทางการ เลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ

ลุ้นผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นับเสร็จแล้วบางหน่วย ล่าสุด ณ เวลา 19.40 น. “วาริน ชิณวงศ์” เบอร์ 2 จากทีมนครเข้มแข็ง ชนะคู่แข่งขาดลอยในหลายหน่วย คะแนนทิ้งห่างแชมป์เก่า “กนกพร เดชเดโช” เบอร์ 1 จากพรรค ปชป.

“ทนายสายหยุด” จ่อถอนตัวคดีตั้ม หวั่นติดร่างแห

“ทนายสายหยุด” เตรียมถอนตัวเป็นทนายให้ “ตั้ม” เผยในมือมีแต่พยานเท็จ ปิดบังข้อเท็จจริง เสี่ยงเป็นผู้ร่วมกระทำผิด

ข่าวแนะนำ

งด ครม.

งด ครม. ทำเนียบวันนี้ เตรียมสัญจรครั้งแรก “เชียงใหม่-เชียงราย” วันศุกร์

งด ครม. ทำเนียบวันนี้ เตรียมสัญจรครั้งแรก “เชียงใหม่-เชียงราย” ศุกร์นี้ นายกฯ ตั้งเป้าปีหน้าน้ำท่วมภาคเหนือต้องไม่เกิดอีก ด้าน ศปช. เตรียมเสนอแผนแก้อย่างเป็นระบบใน ครม.สัญจร ศุกร์นี้

วิเคราะห์การเมืองสนามใหญ่ หลังศึกเลือกตั้งนายก อบจ.

วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. 4 สนามใหญ่ โดยเฉพาะอุดรธานี ที่สะท้อนถึงความนิยมในตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี