กทม. 12 ก.พ.-ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ห่วงวัณโรค น่ากลัวมากกว่าฝุ่นPM 2.5 พบคนไทยป่วยรายใหม่ถึงปีละ 1.2 แสนคน
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คนไทยป่วยเป็นวัณโรครายใหม่ปีละ 1.2 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนาน 4,500 คน และวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรงปีละ 400 คน เสียชีวิตปีละ 14,000 คน สูงกว่าไข้หวัดใหญ่ที่ตายเพียงปีละไม่ถึง 10 คน ในปี 2558 องค์การอนามัยโลก จัดให้ไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศ และถูกบรรจุให้เป็นวาระแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้วัณโรคดื้อยาหลายขนานรุนแรงมากเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ถ้าผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาจะถูกกักบริเวณ และเชื้อวัณโรคขนาดเล็กมากเหมือนฝุ่น PM 2.5 แพร่เชื้อจากการไอ จามของผู้ป่วย เมื่อเชื้อ 1 ตัวเข้าสู่ร่างกายจะเเพร่กระจายเป็นล้านตัว ถือว่าอันตรายมาก และติดต่อง่าย ติดต่อได้แค่อยู่ใกล้ผู้ป่วยเท่านั้น จากการหายใจเอาเชื้อเข้าไปทั้งที่บ้าน ที่ทำงานรถสาธารณะ โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะเรือนจำ ที่เป็นสถานที่เสี่ยงที่สุด ติดเชื้อเพิ่มกว่า 1 พันต่อเเสนประชากร หรือเสี่ยงสูงถึง 8 เท่าหากเทียบกับการติดเชื้อจากภายนอก หรือ 3 แสนคนต่อปี และเมื่อออกมาจากเรือนจำก็จะเอาเชื้อมาแพร่กระจายอีก
‘ถือเป็นประเด็นที่รัฐต้องตระหนักและรีบแก้ไข มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อที่ชัดเจนและมีห้องแยกในโรงพยาบาล เพื่อลดการแพร่เชื้อ ผู้ป่วย หรือคนที่ใกล้ชิดผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากN95 ที่ลดการแพร่เชื้อได้ถึงร้อยละ 56 และติดตั้งโคมไฟยูวีที่บ้าน ที่แสงของยูวีจะช่วยฆ่าเชื้อป้องกันได้ถึงร้อยละ 70 ส่วน และไม่ควรปิดหน้าต่าง ประตู อยู่แต่ในห้องแอร์ ควรอยู่ในที่โล่งอากาศถ่ายเท เพราะวัณโรค น่ากลัวกว่า PM2.5 เพราะฝุ่นขนาดเล็กกระทบระบบหายใจ หากสูดดมเข้าไปจะระคายเคืองจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ เท่านั้น แต่ไม่ทำให้ถึงตาย และในสถานการณ์ที่ฝุ่นเยอะ หากปิดบ้าน ปิดอาคารมิดชิดเพื่อหนีฝุ่น เสี่ยงมีผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคเพิ่มขึ้น ประชาชนต้องตระหนักให้รอบครอบ อย่ามองแค่ฝุ่น แต่ต้องตระหนักถึงความน่ากลัวของเชื้อวัณโรค’ นพ.มนูญ กล่าว
นพ.มนูญ กล่าวต่อว่า สำหรับค่ารักษาผู้ป่วยโรคนี้ชนิดทั่วไปไม่ดื้อยา อยู่ที่ 3,000 บาทต่อคน แต่หากดื้อยาหลายขนานเพิ่มเป็น2แสนบาทต่อคน และมีโอกาสรักษาหายร้อยละ75 และวัณโรคที่ดื้อยาหลายขนานรุนแรงมากจะอยู่ที่ 1.2 ล้านบาทต่อคน แต่มีโอกาสหายเพียงร้อยละ 50 ดังนั้น รัฐควรให้ความสำคัญกับวิกฤตของวัณโรค โดย อย.ต้องเร่งอนุมัติยารักษาวัณโรคดื้อยาขนานใหม่ ๆ มาใช้ในประเทศให้เร็วที่สุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสนับสนุนงบประมาณในการดูแลรักษาและการตรวจในห้อง ปฏิบัติการ รวมถึงค่ายาเพิ่มมากขึ้นด้วยเพราะจากการจัดสรรงบประมาณ ของ สปสช.เฉลี่ยอยู่ที่ 434 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ป่วยวัณโรคทั้งประเทศไม่เพียงพอสำหรับการรักษาผู้ป่วยดื้อยา .-สำนักข่าวไทย