กทม. 7 ก.พ. – สพฐ.เตรียมประชุมปรับเเผนการรับนักเรียนปีการศึกษาใหม่ในวันพรุ่งนี้ หลัง ครม.รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ. หรือรู้จักกันดีว่า “แป๊ะเจี๊ยะ” ความหวังที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
เข้าใกล้ฤดูกาลรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ โรงเรียนดี เด่น ดัง ผู้ปกครองก็หวังให้ลูกได้เข้าเรียนต่อ มีการเเข่งขันสูงจนเกิดการเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะเเลกที่นั่งเรียน หรือจ่ายเงินเป็นกรณีพิเศษ เป็นที่มาให้ป.ป.ช.ยื่นข้อเสนอ ครม. เพื่อเเก้ปัญหาตั้งเเต่ต้นทางอย่างครบวงจร
สาระสำคัญคือ ปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณ งบรายหัว ให้สอดคล้องกับเป็นความจริง เพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษา ลดหย่อนหรือเว้นภาษีเพื่อสร้างเเรงจูงใจการบริจาคเงินให้โรงเรียนที่ขาดแคลน เร่งหนุนงบ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาค ให้เร็วที่สุด ยกเลิกหลักเกณฑ์รับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษทั้ง 7 ข้อ เพราะเป็นช่องทางที่ทำให้เรียกรับสินบน กำหนดเกณฑ์รับนักเรียนในเขตพื้นที่ให้ชัด ให้เด็กได้เรียนใกล้บ้าน ลดการฝากชื่อในทะเบียนบ้าน ทั้งที่ไม่ได้อาศัยอยู่จริง หากพบ ผิดปลอมเเปลงเอกสารทันที โรงเรียนต้องเเจ้งค่าใช้จ่ายการเก็บเงินบำรุงต้องเป็นไปตามระเบียบ และไม่ให้โควตาสมาคมศิษย์เก่า ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาพัฒนามาตรฐานการศึกษาให้เท่ากันทุกโรงเรียน
นักวิชาการเผยปัญหาแป๊ะเจี๊ยะมีมายาวนาน ต้นตอจากความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันค่าฝากเข้า ป.1 โรงเรียนดังพุ่งสูงถึง 4 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 จึงเห็นด้วยกับ ป.ป.ช. มองเป็นยาแรง บริจาคสิ่งของหรือเงินถือติดสินบน ผิดอาญา เข้มสิทธิเข้าเรียนนอกพื้นที่ ปรับค่ารายหัว เพราะเดิมไม่ยุติธรรมกับโรงเรียนขนาดเล็กและกลาง เชื่อ สพฐ.อาจทำตามไม่ทั้งหมด ในยุครัฐบาลใหม่ยิ่งทำได้ยาก เพราะเน้นเอื้อประโยชน์ แนะ ป.ป.ช.ติดตามการใช้มาตรการและต้องให้ผู้อำนวยการโรงเรียนแสดงบัญชีทรัพย์สิน
ด้านเครือข่ายผู้ปกครองเห็นด้วย แต่แย้งประเด็นระดมเงิน เพราะโรงเรียนไม่ควรเรียกเก็บเงินในทุกกรณี ล่าสุดพบมีการฝากนักเรียนแล้วในหลายโรงเรียน ส่วนการบริจาค หน่วยงานราชการบางแห่งยังนำไปเบิกต้นสังกัด ยิ่งส่งเสริมการทุจริต แนะแก้ปัญหาให้ครอบคลุม เพราะมีช่องโหว่
พรุ่งนี้ บอร์ด กพฐ. เตรียมหารือเพื่อปรับปรุงประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติรับนักเรียนในปีการศึกษา 62 หลายฝ่ายเชื่อว่าหากผู้อำนาจเอาจริง จะแก้ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะได้ ที่สำคัญ ครู-ผอ.ไม่ควรลืมหน้าที่ที่ต้องพัฒนาเด็กตามจรรยาบรรณและวิชาชีพที่เรียนมา ไม่ใช่มุ่งหาเงินเพื่อประโยชน์ส่วนตน. – สำนักข่าวไทย