ศาลรัฐธรรมนูญ 1 ก.ย. – กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ส่งใบมอบฉันทะให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หลังถูกตีกลับวานนี้ คาดศาลเตรียมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ก.ย.
เมื่อเวลา 11.45 น. หลังจากเกิดปัญหาเรื่องความสมบูรณ์ของเอกสาร จากการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงให้กับศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนดไว้ในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 จนถูกศาลรัฐธรรมนูญตีกลับถึงสองครั้ง เนื่องจากครั้งแรกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ยื่นคำร้อง และไม่มีการทำใบมอบฉันทะให้กับเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่เดินทางไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
แม้ว่าต่อมาจะมีการส่งเอกสารกลับไปใหม่โดยให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญลงลายมือชื่อแล้ว แต่กลับไม่มีใบมอบฉันทะให้เจ้าหน้าที่รัฐสภาทำหน้าที่แทน ทำให้ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ จนศาลรัฐธรรมนูญต้องพักการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ชั่วคราว และออกคำสั่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ส่งใบมอบฉันทะให้เจ้าหน้าที่รัฐสภามาดำเนินการแทนภายในวันที่ 5 กันยายน ล่าสุดคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ส่งเจ้าหน้าที่รัฐสภานำใบมอบฉันทะไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อเวลา 11.45 น.
รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ปฏิบัติถูกต้องตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าสอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 37/1 ในการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันพุธที่ 7 กันยายน หลังจากการพิจารณาต้องยุติกลางคันเมื่อวานนี้ ( 31 ส.ค.) เนื่องจากเอกสารไม่สมบูรณ์เพราะไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของศาล สำหรับประเด็นที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาต่อจากนี้คือ จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ และเมื่อรับไว้พิจารณาแล้วจำเป็นจะต้องไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับมติของตุลาการทั้ง 9 คน
ส่วนประเด็นที่มีกระแสข่าวว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่พอใจกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดเพราะเห็นว่าเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 37/1 อย่างถูกต้องแล้วนั้น แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ.2557 มาตรา 45 วรรค 2 บัญญัติให้การพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550
โดยในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯข้อที่ 17 ได้กำหนดประเภทคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยไว้ 20 ข้อ การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดอยู่ในข้อที่ 20 คือเป็นคดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการยื่นคำร้องจึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลในข้อ 18 ที่กำหนดการทำและยื่นหรือส่งคำร้องเอาไว้ในวงเล็บห้าว่าจะต้องลงลายมือชื่อผู้ร้อง แต่ในกรณีที่เป็นการทำหรือยื่นหรือส่งคำร้องแทนผู้อื่นต้องแนบใบมอบฉันทะให้ทำการดังกล่าวมาด้วย
แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งทางอำนาจระหว่างกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องพิจารณา และทำคำวินิจฉัยภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เมื่อพบว่าการยื่นคำร้องไม่เป็นไปตามข้อกำหนดฯ ศาลหรือตุลาการประจำคดีมีอำนาจออกคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนแล้วก็ไม่มีปัญหา ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะได้นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาในวันพุธที่ 7 กันยายนต่อไป.-สำนักข่าวไทย