ทำเนียบฯ 1 ก.พ.-“วิษณุ” แนะเจ้าหน้าที่รัฐระมัดระวังการวางตัวช่วงการเลือกตั้ง ระบุนายกฯ ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียได้ โดยไม่ต้องขอ กกต.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติตนของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง รวมถึงการขอความร่วมมือจากหน่วยราชการต่าง ๆ ว่า เบื้องต้นได้สรุปรายงานเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้ว และจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เพื่อให้มีมติคณะรัฐมนตรีในการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับระเบียบข้อปฏิบัติของทางราชการ
นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่น่าจะมีอะไรแตกต่างจากมติคณะรัฐมนตรีเดิมมากนัก เพียงแต่จะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ไม่มีระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของนายกรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษ เพราะรัฐบาลขณะนี้ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ หรือรัฐบาลที่สิ้นสุดลงตามมาตรา 169 ที่กำหนดว่า การแต่งตั้งข้าราชการจะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรีจะดำเนินการในสิ่งที่ผูกพันงบประมาณไม่ได้ รวมถึงไม่สามารถดำเนินการในสิ่งที่ต้องใช้งบประมาณกลาง หรือการใช้บุคลากรไปในทางที่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งต่างจากรัฐบาลในขณะนี้ที่สามารถดำเนินการทั้งหมดได้ โดยรัฐบาลขณะนี้มีสถานภาพเช่นเดียวกับรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อปี 2550 ที่ได้เคยส่งกรณีดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณามาแล้ว
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของนายกรัฐมนตรีนั้น มีทั้งเรื่องของสิ่งที่ต้องทำตามกฎหมาย สิ่งที่ผิดกฎหมาย และเรื่องที่ไม่ผิดดกฎหมายแต่ควรทำหรือไม่ ขณะที่ในเรื่องความเหมาะสม หรือควรทำหรือไม่นั้น จะต้องดูเป็นรายกรณีไป เช่น การออกตรวจราชการต่างจังหวัดจะต้องดูเหตุผลในการลงพื้นที่ หรือลงพื้นที่จังหวัดใด หากทุกอย่างมีเหตุผล ก็สามารถดำเนินการได้
“หลังจากนี้นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีทุกคนก็ต้องระมัดระวัง เนื่องจากทุกคนต่างเป็นข้าราชการการเมือง ซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะกฎหมายจะไม่ได้ระบุเจาะจงเพียงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่จะระบุถึงการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด โดยในกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 78 วรรคที่หนึ่ง ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องวางตนเป็นกลาง ไม่ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และวรรคสอง ระบุว่า การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฎิบัติการใดไปตามภาระหน้าที่ตามปกติแม้จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบก็ไม่ถือเป็นการปฏิบัติโดยไม่ชอบ” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า หากนายกรัฐมนตรีรับเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคการเมืองแล้ว การใช้ช่องทางโซเชียลของนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องแจ้งทาง กกต. เนื่องจากทุกคนสามารถใช้โซเชียลได้ หากไม่ใช่ผู้สมัครของพรรคการเมือง เพราะกฎหมายห้ามเฉพาะผู้สมัครเท่านั้น ทั้งนี้ไม่ควรที่จะโพสต์ข้อความเกี่ยวกับนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ แต่หากจะบอกว่าได้ตอบรับการเชิญของพรรคพลังประชารัฐ ก็สามารถทำได้ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริง.-สำนักข่าวไทย