กรุงเทพฯ 31 ม.ค. – ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแผนกลยุทธ์ปี 2562 – 2564 พร้อมเป็นแพลตฟอร์มตลาดทุนครบวงจรของประเทศ สร้างโอกาสในยุคดิจิทัล
นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2562-2564) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและเป็นภัยคุกคาม โดยจะต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมนักลงทุน และสิ่งที่สำคัญ ภายในรัฐบาลชุดนี้ จะมี พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขัน โดยเปิดให้มีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งใหม่ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์แห่งใหม่ และอื่นๆ ที่จะทำให้การแข่งขันเป็นไปด้วยความเข้มข้น ดังนั้น กลยุทธ์ของตลาดจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ด้วย
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯตั้งเป้าหมายในปี 2566 จะมีมูลค่าตามราคาตลาด หรือ Market Cap 30 ล้านล้านบาท โดยคิดเป็น 150% ของจีดีพี จากปัจจุบัน 108 % ของจีดีพี และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 95,000 ล้านบาท และอยู่ในอันดับที่สองของอาเซียน โดยอยากจะขึ้นมาเป็นที่ 1 แซงประเทศสิงคโปร์ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ได้มีการตั้งเป้าหมายเป็นรายปีหรือระยะสั้น เนื่องจากว่า สภาพตลาดมีความผันผวนและอาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้
ส่วนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2562-2564) เน้นเป็นแพลตฟอร์มตลาดทุนครบวงจรของประเทศ สร้างโอกาสยุคดิจิทัล โดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) และศักยภาพในการพัฒนาตลาดทุน (Enabler) โดย 4 กลยุทธ์ ประกอบด้วย
1) ขยายขอบเขตการทำธุรกิจ ขยายฐานผู้ลงทุนไปยังจังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเริ่มเห็นนักลงทุนหน้าใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ให้ความสนใจในการลงทุนแบบตลาดหุ้น โดยเฉพาะการลงทุนอย่างสม่ำเสมอในลักษณะแบบ dollar-cost averaging (DCA)
2) แสวงหาโอกาสใหม่ด้วยเทคโนโลยีด้วยการขยายให้มีการให้ซื้อขายกองทุนข้ามประเทศ พร้อมเตรียมสร้างตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Platform) เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ตลาดทุนไทย
3) ลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการและกฎเกณฑ์ สร้างแพลตฟอร์มใหม่เพื่อให้บริการแบบครบวงจร (one-stop-services) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนในการดำเนินการของอุตสาหกรรมตลาดทุน
4) ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มในตลาดทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้เป้าหมายให้ตลาดทุนเติบโตอย่างยั่งยืนของสังคมและเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ นายภากร ยืนยันว่า ไม่ได้เกิดปัญหาวิกฤตหุ้น IPO ต่ำกว่าราคาจอง โดยขณะนี้มีบริษัทขนาดใหญ่ที่แสดงความสนใจเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเชื่อว่าจะดึงให้นักลงทุนกลับมาลงทุนในหุ้น IPO อีกครั้ง . – สำนักข่าวไทย