กทม. 28 ม.ค.-กรมควบคุมโรค ส่งเจ้าหน้าที่สืบสวนกรณีอดีตทหารเสียชีวิต ที่ จ.ชลบุรี อ้างจากฝุ่น PM 2.5. วอนสังคมอย่าเพิ่งหยิบโยง ชี้ฝุ่น PM 2.5 มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เหมือนความเครียดกว่าจะรู้แน่ชัดใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-8 ปี
นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีการตรวจชันสูตรกรณีมีผู้เสียชีวืตที่ จ.ชลบุรี และอ้างว่ามาจากการสูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5. ว่า ได้มอบหมายให้สำนักควบคุมโรค เขต 6 ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปว่าเสียชีวิตจากฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือไม่ต้องใช้เวลานานกว่า5-8 ปี เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมองไม่เห็นด้วยตาเปล่ายากที่จะพิสูจน์ พร้อมวอนขอให้กรณีมีผู้เสียชีวิตในขณะนี้อย่าได้ด่วนสรุปมาจากฝุ่นละออง เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เหมือน กับเชื้อโรคติดต่อ แต่เหมือนความเครียด ไขมันในเส้นเลือด เราไม่สามารถบอกได้ ฉะนั้นอย่าเพิ่งรีบผูกโยงสาเหตุการเสียชีวิต
ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรค ได้ติดตามคนกลุ่มหนึ่งเดิมที่เคยสัมผัสกับPM 2.5. เมื่อปีที่แล้วจำนวนกว่า 200 คน กระจายในพื้นที่ ที่ค่าวัดคุณภาพอากาศ 22 จุด พบใน กทม. 6 เขต และสมุทรปราการ นนทบุรีและปทุมธานี มีประวัติป่วยภูมิแพ้ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง หลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งจะทราบผลก็ในอีกหลายปีข้างหน้า ว่าโรคสัมผัสกับฝุ่นและเป็นสาเหตุอะไรบ้าง /อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนทำความเข้าใจว่าฝุ่น PM2.5 จะมีผลเฉียบ พลัน คอแห้ง ระคายคอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอจาม แต่ไม่ได้ทำให้เสียชีวิต ผลกระทบระยะยาวก็เหมือนกับร่างกายคนเราสูบบุหรี่เป็นเวลานาน เพราะในฝุ่นมีสารเคมี และก่อมะเร็งได้ ส่วนคนที่เป็นภูมิแพ้ ได้รับฝุ่น PM 2.5 มีได้ตั้งแต่อาการภายนอก คันไอ ตาแดงระคายผิวหนัง ผื่นขึ้น มีตั้งแต่เป็นน้อยจนถึงขั้นเป็นมากๆ
วันนี้ กรมควบคุมโรค ยังนำรถยนต์ในราชการของกรมควบคุมโรค และ รพ.พยาบาลฉุกเฉินของสถาบันบำราศนราดูร ตรวจวัดค่าควันดำ พบไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งค่าเขม่าควันดำที่อยู่ในท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกินร้อยละ 45 ถึงจะปลอดภัย ทั้งนี้ที่ผ่านมาหลังจากใน กทม.ปริมณฑลมีสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ทางกรมควบคุมโรคได้ตรวจสอบยานพาหนะเพื่อซ่อมบำรุง เนื่องจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกิดการจากเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ พบว่ารถยนต์ราชการ 100 คันมี รถยนต์เกินค่ามาตรฐาน 11 คัน
นอกจากนี้ ยังได้ณรงค์ให้ผู้บริหาร ข้าราชการ ในหน่วยงาน ลดการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ขอให้เดิน หรือขี่จักรยานแทน เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5.-สำนักข่าวไทย