กรุงเทพฯ 24 ม.ค. – รมว.เกษตรฯ ชู กฤษฎาโมเดล ต้นแบบวางแผนการผลิตด้านการเกษตร หนุนเกษตรกร รวมกลุ่มผลิต เพื่อความยั่งยืน
กรุงเทพฯ 24 ม.ค. – นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐ สนันสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยนายกฤษฏา ได้พบปะเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นพืชชนิดใหม่ที่สร้างรายได้ดี เกษตรกรร่วมโครงการสานพลังประชารัฐปลูกข้าวโพดหลังนา และกลุ่มเกษตรกรพื้นที่ดินเค็ม พร้อมให้ความมั่นใจกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ว่า ผลผลิตจากโครงการดังกล่าวจะมีตลาดรับซื้ออย่างแน่นอน โดยปีนี้จะนำร่องส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งตลาดในประเทศยังต้องการอีกมาก เพราะปัจจุบันการปลูกข้าวโพดยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ข้าวโพดในการเลี้ยงสัตว์ เพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง โดยจะเป็นต้นแบบการปฏิรูปภาคเกษตร ซึ่งได้ศึกษารูปแบบการทำการเกษตรของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น พบว่า เกษตรกรจะทำเกษตรแบบรวมกลุ่ม และจะสำรวจความต้องการของตลาดก่อน แล้วจึงเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และทำประมงให้ผลผลิตสมดุลกับความต้องการของตลาดเพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นเกิน จนราคาตกต่ำหรือถูกคนกลางกดราคา
ทั้งนี้ นายกฤษฎา กล่าวว่า ได้ดำเนินการปรับกระบวนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงใหม่ให้บูรณาการกัน โดยก่อนเริ่มโครงการปลูกข้าวโพดหลังนานั้น กรมพัฒนาที่ดินจะสำรวจพื้นที่ที่ดินมีคุณสมบัติเหมาะสม กรมชลประทานสำรวจและเพิ่มศักยภาพการจัดสรรน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูกาลเพาะปลูก 4 เดือน กรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาให้คำแนะนำในการปลูกและดูแลแปลง กรมวิชาการเกษตรเข้ามาช่วยแนะนำเรื่องการให้ปุ๋ยและการกำจัดแมลงศัตรูพืช กรมปศุสัตว์ประสานสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ในการเข้าทำข้อตกลงรับซื้อผลผลิต กรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรกิจจัดหาเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิต รวมทั้งตั้งจุดรวบรวมและรับซื้อผลผลิตเพื่อส่งให้บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ต่อไป ซึ่งขณะนี้สามารถจัดตั้งจุดรับซื้อได้ครอบคลุมทุกอำเภอใน 37 จังหวัดของโครงการ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องขนผลผลิตไปขายเป็นระยะทางไกล เพิ่มต้นทุนค่าขนส่งขึ้นอีก
สำหรับจังหวัดขอนแก่น เกษตรกรเริ่มปลูกข้าวโพดได้ 45 วันแล้ว คาดว่า จะเก็บผลผลิตได้ปลายเดือนเมษายนถึงต้นพฤษภาคม ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หน้าแล้งนั้น สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ระบุว่า มีคุณภาพดี ความชื้นต่ำเนื่องจากเมื่อข้าวโพดแก่ ยังไม่มีฝน เมล็ดเสียจึงน้อย อีกทั้งสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ของไทยร่วมให้ความรู้ จัดทำแปลงสาธิต เป็นพี่เลี้ยงทุกขั้นตอนจนกระทั่งเก็บผลผลิต จึงคาดว่า ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,200 กิโลกรัม หากดูแลดีสามารถสูงถึง 1,500 ถึง 1,800 กิโลกรัมต่อไร่ดังเช่นที่แปลงนำร่องในจังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลกประสบผลสำเร็จมาแล้ว เมื่อหักต้นทุนการผลิตทั้งหมดจะมีกำไร 3,000 ถึง 4,000 บาท ขณะที่ข้าวนาปรังได้กำไรเพียง 300 ถึง 400 บาทต่อไร่ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงได้กำไรมากกว่า 10 เท่า โดยกระทรวงเกษตรฯ จะใช้เป็นต้นแบบส่งเสริมเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นๆ หลังฤดูทำนาในปีต่อๆ ไป เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และพืชผัก โดยจะต้องทำเกษตรแบบแปลงใหญ่หรือสหกรณ์เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตและมีกำลังในการต่อรองราคาขายให้ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกกดราคาจากคนกลางเหมือนที่ผ่านๆ มา
“ตามฐานข้อมูลเกษตรกรนั้น ประเทศไทยมีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 7.5 ล้านครัวเรือนซึ่งจากนี้ไปจะต้องเข้าสู่แผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจว่า มีผู้รับซื้อผลผลิตทั้งหมด ได้รับราคาเป็นธรรม หากเกิดภัยพิบัติมีระบบประกันภัยจ่ายค่าชดเชยให้ ดังนั้นต่อไป รัฐไม่ต้องนำงบประมาณเป็นจำนวนมากมารับจำนำผลผลิตหรือรับซื้อในราคานำตลาด ซึ่งที่ผ่านมา แต่ละปีต้องใช้งบหลายแสนล้านบาท อีกทั้งเมื่อซื้อผลผลิตแล้ว ยังต้องเสียค่าเช่าโกดังเก็บรักษา ผลผลิตเสื่อมคุณภาพ หรือเกิดปัญหาผลผลิตที่เก็บไว้หาย ต้นแบบนี้เป็น ‘กฤษฎาโมเดล’ ซึ่งแม้ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาล ยังคงใช้เป็นแนวทางการดูแลเกษตรกรให้มีรายได้มั่นคงและยั่งยืนได้ต่อไป” นายกฤษฎากล่าว.
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่า สำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นร่วมกับหน่วยงานสำรวจเกษตรกรที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อการสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาจำนวนทั้งสิ้น 1,053 ราย พื้นที่เพาะปลูก 6,389.75 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกสหกรณ์จำนวน 64 ราย พื้นที่เพาะปลูก 315 ไร่ ซึ่งสหกรณ์จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยทำหน้าที่บริหารจัดการผลผลิตเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมการผลิตให้เกษตรกร จัดหาเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิตต่างๆ ประสานหน่วยงานที่มีนักวิชาการเกษตรเข้ามาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการดูแลพื้นที่เพาะปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิต การรวบรวมผลผลิต ตลอดจนจัดหาตลาดมารับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร ซึ่งในจังหวัดขอนแก่นมีสหกรณ์ภาคเกษตรที่มีความพร้อมเปิดจุดรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรหนองเรือ สหกรณ์การเกษตรบ้านฝาง สหกรณ์การเกษตรภูเวียง สหกรณ์การเกษตรชุมแพ สหกรณ์การเกษตรน้ำพอง สหกรณ์การเกษตรเขาสวนกวาง สหกรณ์การเกษตรกระนวน สหกรณ์การเกษตรอุบลรัตน์ สหกรณ์การเกษตรมัญจาคีรี สหกรณ์การเกษตรชนบท ซึ่งสหกรณ์มีอุปกรณ์การตลาดทั้งโกดัง ลานตาก พร้อมสำหรับการเก็บรวบรวมข้าวโพดจากเกษตรกร ก่อนจะส่งขายให้กับบริษัทเอกชนในอำเภอชุมแพ เพื่อนำไปอบลดความชื้นและแยกสิ่งเจือปน เพื่อส่งให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งโครงการนี้เป็นการเชื่อมโยงความร่วมมือจัดการข้าวโพดแบบครบวงจรระหว่างภาครัฐ สหกรณ์ และภาคเอกชน
สำหรับแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของนางทองเที่ยง สุดจอมและนายสำลี ล้นทม ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหนองเรือ จำกัด นั้น เกษตรกรทั้ง 2 รายนี้ได้เริ่มทดลองหันมาปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ พื้นที่เดิมเคยทำนาและปลูกผักสวนครัว และใช้น้ำใต้ดิน(น้ำบาดาล)ในการเพาะปลูก ซึ่งการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เนื่องจากมีความมั่นใจในมาตรการที่ภาครัฐให้การสนับสนุน ทั้งการสนับสนุนสินเชื่อจากธกส.อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 การทำประกันภัยพืชผลเพื่อป้องกันความเสี่ยงเมื่อเกิดความเสียหายในการเพาะปลูก และยังได้มีการประสานกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์และภาคเอกชนในการเข้ามารับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีสหกรณ์เป็นตัวกลางในการดูแลและบริหารจัดการผลผลิตให้กับเกษตรกร
ส่วนต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสมาชิกสหกรณ์/เกษตรกรในพื้นที่อำเภอหนองเรือ เฉลี่ย 4,980 บาทต่อไร่ โดยรวมต้นข้าวโพดมีความเจริญเติบโตสมบูรณ์ คาดว่าจะได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,500 – 2,000 กก.ต่อไร่ ซึ่งสหกรณ์จะรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด โดยรับซื้อเป็นข้าวโพดฝักแก่เมล็ดติดฝักปลอกเปลือก ในราคาไม่ต่ำกว่า 5 บาทต่อกิโลกรัมในระดับความชื้นร้อยละ 27-30 หรือหากสีแกะเมล็ด แล้วนำไปปรับปรุงคุณภาพ อบลดความชื้นจนอยู่ที่ร้อยละ 14.5 จะได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาทแน่นอน ซึ่งจากแปลงนำร่องที่เก็บเกี่ยวและขายแล้ว เกษตรกรมีรายได้ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 9,000 บาท เมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้วมีกำไรเฉลี่ย 4,020 บาทต่อไร่ . – สำนักข่าวไทย