กรุงเทพฯ 21 ม.ค.- ธอส.โชว์ผลงานปี 61 สินเชื่อปล่อยใหม่ทะลุ 2 แสนล้านบาท เดินหน้าผลักดันบ้านล้านหลังให้ตรงเป้าหมาย หลัง พ.ร.บ.ธอส.ผ่าน สนช. ปีหมูทองเดินหน้าแอพฯ GHB ALL รวมไว้ในมือลูกค้า ทั้งการเปิดดู บัญชีเงินฝาก ส่งเอกสารยื่นกู้ ประนอมหนี้
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า แผนดำเนินงานปี 2562 มุ่งเดินหน้าทำให้คนไทยมีบ้าน จึงหวังปล่อยสินเชื่อใหม่ 203,262 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 1,181,038 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 1,210,984 ล้านบาท หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลงเหลือร้อยละ 4.02 ของยอดสินเชื่อรวม และเร่งพิจารณาอนุมัติสินเชื่อโครงการบ้านล้านหลังให้ครบทั้งกรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท หลังจาก พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้แล้ว ธอส.จึงเตรียมขยายขอบเขต ทั้งการเปิดจำหน่ายสลากออมทรัพย์ ธอส. เพื่อเพิ่มสัดส่วนของเงินฝากระยะยาวให้สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อ การเพิ่มอำนาจการออกพันธบัตรให้เป็นของคณะกรรมการธนาคาร และยังรองรับการให้สินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุในรูปแบบ Reverse Mortgage
“ธอส.พร้อมยกระดับให้บริการด้วยเทคโนโลยีตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคปัจจุบัน ภายในเดือนมีนาคม 2562 ด้วยการขยายตัวทางธุรกิจ เดินหน้าเฟส 2 ของ Mobile Application : GHB ALL แอพพลิเคชันด้วยการรวมทุกบริการของ ธอส.ไว้ในมือลูกค้า ทั้งการเปิดดู บัญชีเงินฝาก ส่งเอกสารยื่นกู้ ประนอมหนี้ ติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง นัดเจ้าหน้าที่เข้าประเมินราคา แจ้งผลการพิจารณาสินเชื่อ นัดวันลงนามเอกสารสำคัญและทำนิติกรรม แจ้งเตือนชำระหนี้ แสดงความประสงค์กู้เพิ่ม และชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ การเพิ่มบริการฝากเงินด้วยเครื่องรับเงินฝากแบบพกพา GHB Mobile Deposit เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับเงินฝากของลูกค้าประชาชนตามชุมชนต่าง ๆ เพิ่มความรวดเร็ว มั่นใจ ปลอดภัย และสร้างวินัยการเงิน ตั้งเป้าหมาย ภายในสิ้นปี 62 จำนวนการใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของบริการหน้าเคาน์เตอร์ที่สาขาของธนาคาร” นายฉัตรชัย กล่าว
นายฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ธอส.ยังเร่งรัดปล่อยสินเชื่อบ้านล้านหลัง หลังจากเปิดให้ประชาชนจองสิทธิ์ขอสินเชื่อสูงถึง 127,000 ราย หรือเป็นวงเงินสินเชื่อกว่าแสนล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มมีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน 113,000 ล้านราย ตั้งวงเงินรองรับ 10,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือน มีผู้จองสิทธิ์ 14,000 ราย แต่ตั้งวงเงินรองรับ 40,000 ล้านบาท นับว่ารายย่อยมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของผู้จองสิทธิ์ จึงเตรียมเสนอ ครม.ปรับวงเงินให้สอดรับกับความต้องการของรายย่อยหลังได้รับทราบข้อมูลความต้องการบ้านของผู้มีรายได้น้อย
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการเปิดจองสิทธิ์ได้มองเห็นกลุ่มลูกค้าชัดเจนทั้งผู้มีรายได้และคุณสมบัติตามกำหนดผู้มีรายได้แต่เอกสารไม่ครบและกลุ่มไม่มีศักยภาพชำระสินเชื่อ จึงต้องพิจารณาสินเชื่อให้ชัดเจน เพราะ ธอส.ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อแบบหว่านแหให้กับทุกคน ตั้งแต่เปิดให้ยื่นเอกสารขอกู้โครงการบ้านล้านหลังวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมากลุ่มแรกยื่นเข้ามาได้นำมาเข้าสู่ระบบพิจาณาสินเชื่อ 59,000 ราย วงเงิน 1,000 ราย ในส่วนของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ฯ เมื่อมองเห็นความต้องการบ้านของรายย่อยคาดว่าจะมีผู้เข้ามาพัฒนาบ้านอยู่อาศัยรองรับกลุ่มนี้มากขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2561ปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งสิ้น 213,161 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.30 สูงกว่าเป้าหมายกำหนดไว้ที่ 188,918 ล้านบาท ถึง 24,243 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท 105,081 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 6.29 ยอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.03 สินทรัพย์รวม 1.16 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.55 เงินฝากรวม 943,382 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.94 NPL 46,495 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.17 ของยอดสินเชื่อรวม ลดลงร้อยละ 0.04 มาจากการบริหารจัดการสินทรัพย์ ขณะที่ ธอส.มีกำไรสุทธิ 12,611 ล้านบาท
ในปี 61 ถือเป็นครั้งแรกที่ ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ถึงระดับ 200,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า สะท้อนการคงบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำผ่านการสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้มีบ้านเป็นของตนเอง โดยผลิตภัณฑ์สินเชื่อในกลุ่ม Social Solution สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ประชาชนใช้บริการสูงสุด คือ โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน ครอบคลุมผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปล่อยสินเชื่อได้สูงถึง 24,800 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐบุคลากรภาครัฐ สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในราชการ อาทิ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ปล่อยสินเชื่อได้ 20,800 ล้านบาท ส่วนผลิตภัณฑ์สินเชื่อในกลุ่ม Business Solution สำหรับผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไปที่ประชาชนใช้บริการสูงสุด คือ โครงการ For Home 2 ปล่อยสินเชื่อได้ 21,900 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย