กรุงเทพฯ 4 ก.ย.-สุจิต เปรียบเปรมโมเดล มีลักษณะคล้ายการเมืองช่วงนี้ ชี้มีความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองจะเสนอชื่อคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่รู้ใจพลเอกประยุทธ์ว่าจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่
นายสุจิต บุญบงการ อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอ”เปรมโมเดล” ว่ามองได้ว่าน่าจะเป็นการเทียบเคียงการเมืองในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2523-2531 เพราะขณะนั้นการรณรงค์ให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.นั้นยังเบาบางและพรรคการเมืองยังไม่เข้มแข็งมากนัก อีกทั้งพรรคเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็รู้ศักยภาพตัวเองดีว่าคงไม่มีใครขึ้นเป็นผู้นำได้ จึงให้การสนับสนุน รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าอยากได้ผู้นำที่มีความสามารถและมีความซื่อสัตย์ในการบริหารบ้านเมืองได้ ดังนั้นพลเอกเปรมจึงได้รับการผลักดันจนสามารถเป็นผู้บัญชาการทหารบกและนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้อย่างไม่มีปัญหา และแม้จะมีกลุ่มที่คัดค้านบ้างแต่ในที่สุดแล้วก็ให้การยอมรับทุกฝ่ายทั้งฝ่ายทหารอย่างกลุ่ม จปร.รุ่น5 กลุ่มพรรคการเมืองอย่างพรรคชาติไทยและและส.ว.บางส่วน
“ความรู้สึกตอนนั้นคิดตรงกันว่าคนไทยส่วนใหญ่ต้องการคนที่มาคุมสถานการณ์ได้และเป็นแบบอย่างในการเป็นผู้นำที่ถูกต้องที่จะมาดูแลชาติบ้านเมืองและก็ต้องเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์เพราะประชาชนเบื่อหน่ายการทุจริตในสมัยจอมพลถนอมและจอมพลประภาสเป็นผู้นำอยู่ตอนนั้น”นายสุจิต กล่าว
เมื่อถามว่า หากจะเปรียบเทียบกับในสมัยนี้จะนำเปรมโมเดล มาใช้ได้หรือไม่ นายสุจิต กล่าวว่า ส่วนตัวไม่อยากให้ใช้คำว่าเปรมโมเดล เพราะจะเป็นการไปเปรียบเทียบว่าทำไมพลเอกเปรมทำได้และพลเอกประยุทธ์จะทำไม่ได้ เพราะพลเอกเปรมพ้นจากแวดวงการเมืองไปแล้วจึงไม่อยากเปรียบเทียบ
“หากถามว่าช่วงนี้เหมาะสมหรือไม่ที่จะมีนายกรัฐมนตรีคนนอก ไม่ว่าจะเป็น คนคสช.หรืออดีตผบ.ทบ.ได้ไหม ต้องยอมรับว่าความรู้สึกนี้มีมากเพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนมากกลัวว่ารัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาแล้วจะเป็นแบบเก่ามีการทุจริคตคอรัปชั่นและไม่เป็นไปตามความต้องการในหลายเรื่อง จึงไม่ค่อยแน่ใจว่าการให้นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคการเมืองจะเหมาะหรือไม่ ดังนั้นหลายคนที่เชียร์พลเอกประยุทธ์ ก็เห็นว่าที่ผ่านมาท่านก็ทำงานดีเสียสละ และออกตัวว่าต้องการปูพื้นฐานประชาธิปไตยให้ประเทศแต่ไม่ได้ต้องการสืบทอดอำนาจหรือต้องการตำแหน่งอะไรต่อ ซึ่งก็เหมือนกับพลเอกเปรมตอนที่เป็นแม่ทัพภาคและย้ายมาเป็นผู้นำในกองทัพบกก็ไม่ได้แสดงอาการว่าอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นตรงนี้ก็อาจจะคล้ายกันแต่มีข้อแตกต่างคือ การเมืองเปลี่ยนแปลงไปเยอะจาก30 ปีที่แล้วที่พลเอกเปรมมีอำนาจ เนื่องจากพรรคการเมืองค่อนข้างมีความเชื่อมั่นว่าพรรคเขาจะต้องเป็นรัฐบาลและคนที่มีเสียงข้างมากควรจะได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเสียงของ ส.ส.ก็จะบอกว่าต้องเอาคนในก่อนหากไม่ได้ค่อยเอาคนนอก แต่การต่อต้าน จะดูได้จากการเลือกตั้งว่าพรรคการเมืองนั้นๆเลือกคนที่มีความสามารถและเข้าตาประชาชนหรือไม่ซึ่งแตกต่างจากสมัยพลเอกเปรมซึ่งไม่มีคู่แข่งในขณะนั้น แต่การเลือกตั้งครั้งนี้คนก็จะพิจารณาได้ถึงความเหมาะสม”นายสุจิต กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีการวางหลักการเทียบเคียงอย่างไรหากมีนายกรัฐมนตรีคนนอกให้ปฎิบัติตามเปรมโมเดล นายสุจิต กล่าวว่าพูดลำบากแต่ในทางปฎิบัติคนไทยที่มีสิทธิมีเสียงในการลงคะแนนและนักวิชาการรวมทั้งสื่อ ก็พอจะรู้หากเทียบเคียงกับบุคคลในบัญชีรายชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอมากับฝ่ายที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ที่คิดว่าเป็นต่อ ซึ่งโอกาสที่ฝ่ายการเมืองจะส่งคนที่หน่วยก้านดีคงลำบาก ดังนั้นโอกาสที่พรรคการเมืองจำเป็นต้องสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีก็อาจจะมีมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่ว่าแต่ละพรรคการเมืองจะสามารถไปเอาชื่อใครที่เหมาะสมมาเป็นนายกรัฐบมนตรีเสนอต่อประชาชนเพราะหลายคนที่มีความรู้ความสามารถแบบไทยๆคงไม่อยากออกตัวให้ชื่อปรากฎ เชื่อว่าสุดท้ายก็ต้องเป็นคนในพรรคนั้นๆอยู่ดี ดังนั้นจึงมีโอกาสที่พรรคการเมืองจะสนับสนุนนายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องดูก่อนว่าพรรคการเมืองจะเอาชื่อคนที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีมาเสนอต่อประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน
เมื่อถามถึงความยากง่ายในการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีคนนอกในสมัยนี้กับสมัยพลเอกเปรม นายสุจิต กล่าวว่าคงมีความคล้ายกันในความลำบากเรื่องดูแลพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นการปรับครม.หรือการยุบสภา แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องมีคนช่วย ไม่ว่าจะเป็นนายทหารก็ดี นักการเมืองหรือนักธุรกิจก็ดี เพื่อเป็นคนที่จะมาต่อรองกับพรรคการเมือง แต่อยากฝากไว้ว่าอย่ายอมให้รัฐมนตรีแสวงหาผลประโยชน์อย่างที่เคยทำมา ถึงแม้ว่าเราจำเป็นจะต้องเอาบุคคลเหล่านั้นมาเป็นรัฐมนตรีเพื่อให้ได้เสียงในสภาแต่ไม่ใช่ว่าจะต้องยอมให้รัฐมนตรีเหล่านี้มาหาประโยชน์ดึงเสียงสส.สว.ในสภา ไม่อย่างนั้นก็จะเข้ารูปแบบเดิมอย่างที่เคยเป็นมา ทำอย่างไรจะให้มีหลักการใหม่หากทำได้บ้านเมืองก็จะเดินไปได้ด้วยดี
สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น นายสุจิตเชื่อว่ามาถึงจุดหนึ่งนายกรัฐมนตรีคนนอกจะออกจากตำแหน่งเพื่อให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งได้บริหารประเทศ เพราะถือว่าได้เข้ามาวางรากฐานประเทศแล้วซึ่งพลเอกเปรมก็ทำแบบนั้นหลังจากปกครองประเทศมา 8 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้แสดงศักยภาพและความสามารถต่อไป
เมื่อถามถึงการยอมรับนายกรัฐมนตรีคนนอกจากนานาประเทศ นายสุจิต กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าต่างชาติไม่ติดใจอะไร เพียงแต่ต้องการให้มีการเลือกตั้งและต้องการให้ประชาชนได้แสดงออกและแสดงความคิดเห็นตามกระบวนการประชาธิปไตยโดยเชื่อว่าหลังจากการทำประชามติแล้วมีการเลือกตั้งสถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศจะดีขึ้นตามลำดับ
เมื่อถามถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบันมีโอกาสที่ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่ นายสุจิต กล่าวว่าเป็นไปได้มาก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าคนที่พรรคการเมืองเสนอชื่อมานั้นเป็นใคร คนนอกคือใครตรงนี้คือเงื่อนไขที่สำคัญ ทั้งนี้โดยมารยาทพูดลำบากที่จะระบุชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีคนนอกเป็นใคร และคนๆนั้นจะรับตำแหน่งหรือไม่ด้วย ดังนั้นการคาดคะเนไปก่อนหมือนเป็นการไปชี้ทางว่าคนนี้เหมาะสมและแรงต่อต้านจะโหมกระหน่ำจากฝ่ายค้านและคนๆนั้นอาจจะไม่รับก็ได้ ส่วนพลเอกประยุทธ์จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่ตรงนี้ตนไม่ทราบเพราะตนไม่รู้ใจนายกรัฐมนตรีตนตอบแทนไม่ได้แต่เชื่อว่าถึงเวลานายกรัฐมนตรีคงให้คำตอบเอง.-สำนักข่าวไทย