ศธ.9 ม.ค.-รมว.ศธ.ไม่ติดใจกรณี รร.เอกชนอนุญาตให้เด็กแต่งไปรเวทไปเรียน หากไม่กระทบการเรียน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนส่งหนังสือแจ้ง รร.ทบทวนความเหมาะสม แม้จะเป็นการทดลอง ห่วงเรื่องความมีระเบียบ เรียบร้อย ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้ในทุกวันอังคาร ว่า ตนมองว่าไม่ควรนำเรื่องชุดนักเรียนมาเป็นประเด็นด้านการศึกษา เพราะไม่ได้กระทบกับการเรียน ซึ่งหากย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องชุดนักเรียนว่า กำหนดให้มีการสวมใส่เพื่อความเป็นระบียบวินัยเเละลดการเเบ่งชนชั้น อย่างผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนเองก็ออกบอกว่า ชุดนักเรียนก็มีจุดเเข็ง จึงให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทเเค่สัปดาห์ละวัน ซึ่งกว่าจะนำเเนวคิดเรื่องนี้มาใช้ได้ก็ผ่านเวลาเป็น 10 ปี ซึ่งก็เห็นเจตนารมณ์ที่ดี ก็คงไม่มีนโยบายบังคับเเต่อย่างใด
ส่วนโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เป็นที่รู้อยู่กันอยู่เเล้วว่าให้ใส่ชุดนักเรียนมาเรียนได้เท่านั้น ห้ามชุดไปรเวท ซึ่งกระเเสที่นักเรียนในสังกัด สพฐ..อยากใส่ชุดไปรเวทบ้างนั้น ตนยังไม่ได้ยิน เเต่ก็คงยึดตามกฎเเละข้อระเบียบ
ขณะที่ นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีหนังสือแจ้งไปยังโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ขอให้โรงเรียนทบทวนเรื่องดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด ถึงแม้โรงเรียนได้ชี้แจงว่าเป็นการทดลองทำวิจัยเรื่องการแต่งเครื่องแบบนักเรียน แต่ สช.ก็ห่วงใยเรื่องความมีระเบียบ วินัย เรียบร้อย ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง การดูแลเด็กของครู บริบทของสังคมไทย และปัญหาสังคมที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งโรงเรียนต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้และดูความเหมาะสมด้วย
“โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนจะต้องไปหารือกับคณะกรรมการสถานศึกษาและแจ้งผลการหารือกลับมาที่กระทรวงศึกษาธิการ เพราะการแต่งกายของนักเรียนโรงเรียนเอกชนก็ยังมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 กำกับไว้ แต่เบื้องต้น สช.ได้สอบถามเรื่องดังกล่าวพบว่าทีมผู้บริหารและครูได้หารือกันว่าต้องการทำวิจัยเรื่องการแต่งเครื่องแบบนักเรียน 6 สัปดาห์ แต่ก็อยากให้มองลึกลงไปกว่านั้นว่าในระหว่างการวิจัยจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง อีกทั้งกระทรวงศึกษาฯ ถ้ามีผลกระทบก็ต้องทบทวน ส่วนโรงเรียนเอกชนอื่นหากอยากจะทำบ้างก็ควรคิดให้ดีว่าทำแล้วจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งกรรมการบริหารสถานศึกษาจะต้องมีความเข้มแข็งในเรื่องนี้” เลขาธิการ กช.กล่าว.-สำนักข่าวไทย