นนทบุรี 2 ม.ค. – พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนธันวาคมสูงขึ้นในอัตราชะลอแต่ยังเป็นบวก ทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 1.07 จับตาปี 62 หลายปัจจัยยังดันเงินเฟ้อขยับสูงขึ้น
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค. ) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2561 ว่า ขยายตัวในอัตราชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 4 แต่ยังสูงขึ้นเป็นบวกร้อยละ 0.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 18 ทำให้เงินเฟ้อเดือนธันวาคมลดลงจากกลุ่มพลังงานที่ลดลงมาค่อนข้างมากตามตลาดโลก รองลงมาจะเป็นกลุ่มผักผลไม้บางชนิดที่ลดลงเล็กน้อยตามช่วงฤดูกาลเป็นหลัก
ทั้งนี้ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อตลอด 12 เดือนหรือในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 1.07 ซึ่งเป็นไปตามกรอบที่กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ไว้ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2561 มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 0.8-1.6 หรือเฉลี่ยค่ากลางอยู่ร้อยละ 1.2 แม้ว่าในช่วงปลายปีจะมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อผ่านบัตรสวัสดิการบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มมากนัก โดยการที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในช่วง 2-4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมาจากการลดลงของกลุ่มพลังงานลดร้อยละ 2.12 ราคาอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 0.90 ขณะที่กลุ่มสินค้าภาคการเกษตรมีทั้งปรับขึ้นตามฤดูกาลและมีสินค้าเกษตรบางตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2562 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.7-1.7 โดยสมมติฐานคาดการณ์จีดีพีของประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเชื่อมั่นว่าไตรมาสแรกปี 2562 เงินเฟ้อจะขยับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 0.86 ไตรมาส 2 อยู่ที่ร้อยละ 0.98 ไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ร้อย 1.27 และไตรมาส 4 อยู่ที่ร้อยละ 1.81 โดยมีหลายปัจจัยหนุนในช่วงไตรมาสแรกจากมาตรการของภาครัฐสนับสนุนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผลจากการเลือกตั้งที่มีการหาเสียงในช่วง 1-2 เดือนนี้ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย