สธ. 5 ก.ย. – ปลัด สธ.ยืนยันไทยไม่ใช่พื้นที่แพร่ระบาดของโรคซิกา พบผู้ป่วยประปราย สามารถควบคุมได้ แต่ยังต้องติดตามและศึกษาข้อมูลร่วมกับองค์การอนามัยโลกอย่างต่อเนื่อง
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมเทเลคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ป้องกันการระบาดของไวรัสซิกาว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทุกพื้นที่ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทั้งในบ้าน วัด และโรงเรียน หลังพบว่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย จากเดิมที่ลดลงเหลือร้อยละ 10 ขยับขึ้นมาเป็นร้อยละ 60
ทั้งนี้ ต้องเข้าใจโรคซิกา เกิดจากยุงลายเป็นพาหะ จึงอยากให้ช่วยเร่งกันกำจัด เพื่อตัดวงจรการเกิด 3 โรค ทั้งไข้เลือดออก ซิกา ชิคุนกุนยา และควรมีการทายากันยุงในกลุ่มเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์ หญิงวัยเจริญพันธุ์
ส่วนการติดตามการแพร่ระบาดของโรคพบว่า ยังมีบัญชีหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องติดตาม เนื่องจากอยู่ในพื้นที่พบโรคซิกา 24 คน ส่วนก่อนหน้านี้อีก 6 คน คลอดแล้ว และพบว่าเด็กเป็นปกติดี ไม่มีศีรษะเล็ก แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทราบสาเหตุของภาวะศีรษะเล็กหลังคลอดที่พบปีละ 200-300 คน จึงจะจัดให้มีการทำคู่มือสำรวจความพิการในทารก ซึ่งครอบคลุมโรคซิกาด้วย แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมาเด็กศีรษะเล็กในไทยไม่ได้เกิดจากไวรัสซิกา เพราะปัจจัยของเด็กศีรษะเล็กมาจากแม่ดื่มเหล้า แม่ติดเชื้อโรคบางชนิด
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังมี 4 จังหวัดที่ต้องติดตามการแพร่ระบาดของโรค ได้แก่ เชียงใหม่ จันทบุรี บึงกาฬ และเพชรบูรณ์ พร้อมยืนยันไทยไม่ใช่พื้นที่แพร่ระบาดของโรคซิกา เนื่องจากมีการพบผู้ป่วยประปรายและสามารถควบคุมได้ แต่ยังต้องติดตามและศึกษาข้อมูลร่วมกับองค์การอนามัยโลกอย่างต่อเนื่อง เพราะขณะนี้ข้อมูลเกี่ยวกับซิกายังมีน้อย ทราบเพียงว่าสายพันธุ์ที่พบในไทยเป็นสายพันธุ์ไทย สายพันธุ์เอเชีย
ส่วนสาเหตุที่กระทรวงฯ ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยหรือต้องสงสัย เนื่องจากไม่อยากให้เพ่งเล็งตัวเลข หวั่นจะเกิดความตื่นตระหนก เพราะไทยแค่ประปราย และมีมาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว
ขณะที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งพบหญิงชาวเมียนมาร์ท้อง 8 เดือน ป่วยโรคไวรัสซิกา เจ้าหน้าที่ได้เข้าฉีดพ่นหมอกควันรอบบ้าน และแพทย์นัดตรวจอีกครั้งช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้. – สำนักข่าวไทย