รัฐสภา 26 ธ.ค. – สนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ รัฐบาลยืนยันเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การเวนเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนให้ได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม และรัฐนำไปใช้เป็นสาธารณะประโยชน์
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นพิเศษ มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่คณะรัฐมนตรี เสนอ จำนวน 11 ฉบับ เริ่มที่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ….
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสาระสำคัญว่า เนื่องจากมีการใช้กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตั้งแต่ปี 2530 พบปัญหาในวิธีการปฏิบัติที่ไม่สะดวกและเป็นธรรมแก่ประชาชนบางกลุ่ม รวมถึงเกิดข้อขัดข้องในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐในการเวนคืนอสังหาริมทรัยพ์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเสนอกฎหมายนี้เพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองและวางระเบียบให้ชัดเจนไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ใหม่ นอกจากเพิ่มเงื่อนไขการเวนคืนเพื่อทำประโยชน์อย่างใดแล้ว ยังได้เพิ่มในเรื่องการเวนคืนเพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนหรือจัดสรรที่ดินให้กับผู้ที่ถูกเวนคืนรายแรกที่เกิดผลกระทบ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกเวนคืนและเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ขณะเดียวกันเพื่อให้รัฐมีความสะดวกในการเข้าไปตรวจสอบที่ดินเพื่อการเวนคืนและเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเวนคืนได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สนช.เห็นด้วยกับหลักการของร่างกฎหมาย เพราะจะทำให้ประชาชนที่ถูกเวนคืนที่ดินได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง โดยหลังการอภิปรายที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนน เอกฉันท์ 155 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 17 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน มีกรอบการทำงาน 45 วัน
นอกจากนี้ที่ประชุม สนช.ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ โดยนายวิษณุ เครืองาม ชี้แจงสาระสำคัญว่า เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 63 วรรคสาม กำหนดให้รัฐต้องมีการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น ๆ เพื่อให้การจัดทำประมวลจริยธรรมเป็นไปด้วยความเรียบน้อยและมีมาตรฐานเดียวกันเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงยังเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อเสริมสร้างให้มีการปฏิบัติตามมวลจริยธรรม
ด้านสมาชิก สนช. อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ โดยหลังอภิปรายที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระแรกไว้พิจารณาด้วยคะแนนเอกฉันท์ 145 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ จำนวน 17 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน มีกรอบการทำงาน 45 วัน
นอกจากนี้สนช. ยังได้รับหลักการร่างกฎหมายอีกหลายฉบับ อาทิ ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในงานประมง ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือที่อยู่อาศัย ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร .- สำนักข่าวไทย