กรุงเทพฯ 6 ก.ย. – กอน.เร่งสรุปข้อมูลเตรียมแจงรมต.เกษตรบราซิล 13-14 ก.ย.นี้ หวังยุติฟ้องไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลต่อ WTO
นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวในการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล(ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งมีตัวแทนชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลผู้ผลิตเอทานอลและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยระบุว่า ขณะนี้ได้รับแจ้งจากทูตไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ว่า ตามที่ประเทศบราซิล ผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลกเห็นว่า ประเทศไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลและส่งออกน้ำตาลจนอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศบราซิลได้รับผลกระทบ ขณะนี้ มีการเคลื่อนไหวที่จะดำเนินการเพื่อนำไปสู่การฟ้องดคีประเทศไทยต่อองค์การการค้าโลก(WTO)โดยอาจจะฟ้องต่อคณะผู้พิจารณา(Panel) ในวันที่ 15 กันยายนนี้
ดังนั้นในวันที่ 12 กันยานยนนี้ นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมอ้อยและน้ำตาล(กอน.)จึงเรียกประชุมเพื่อสรุปข้อมูลการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบรวมถึงการแก้พรบ.อ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อเตรียมนำข้อมูลไปชี้แจงทำความเข้าใจกับรัฐมนตรีเกษตรประเทศบราซิล ที่จะนำคณะผู้แทนชาวไร่อ้อยบราซิล 35 คน เดินทางมาเยือนประเทศไทยในระหว่างวันที่13-14 กันยายนนี้ เพื่อเข้าพบและหารือกับพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานอ้อยฯ หวังว่า จะช่วยให้ประเทศบราซิลเข้าใจอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยและอาจนำไปสู่การยุติการฟ้องร้องต่อ WTO ได้ อย่างไรก็ตามฝ่ายบราซิลแจ้งมาว่า แม้บราซิลเดินเรืองจนถึงขั้นฟ้องต่อคณะผู้พิจารณา(Panel)แล้ว ทางบราซิลยินดียังเปิดการเจรจากับไทยได้
สำหรับการแก้ไข พรบ.น้ำตาลทรายที่เกี่ยวข้องกับ WTO ได้แก่เรื่องที่ประเทศบราซิลมองว่า เป็นการประกันราคา จะมีการแก้ไขมาตรา 56พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เนื่องจากเดิมกำหนดให้ในกรณีราคาอ้อยขั้นต้นสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายชาวไร่อ้อยไม่ต้องจ่ายเงินคืนเสมือนเป็นการประกันราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย ซึ่งอาจขัดต่อข้อตกลง WTO จึงแก้ไขใหม่ โดยให้นำส่วนต่างที่เกิดขึ้นไปหักออกจากราคาอ้อยในฤดูการผลิตปีถัดไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนด แก้ไขมาตรา 57 มีการยกเลิกเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อให้เป็นไปตามกรอบของ WTO ในเรื่องการอุดหนุนสินค้า มีการแก้ไขมาตรา 9 โดยจะยกเลิก เรื่องการกำหนดราคาขายน้ำตาลภายในประเทศ จากที่ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้กำหนดราคาจำหน่ายทั้งราคาหน้าโรงงานและราคาขายปลีก แก้ไขมาตรา 19 แก้ไขใหม่ ให้ตรงกับข้อกำหนดของ WTO ในเรื่องการห้ามการนำเข้าน้ำตาลทราย แก้ไขมาตรา 20 แก้ไขให้การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80และไม่เกินร้อยละ 90 ของประมาณการรายได้เพื่อไม่ให้ราคาอ้อยขั้นสูงมากเกินกว่าความเป็นจริง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยกเลิกโควตาน้ำตาล จากเดิม แบ่งเป็น โควตา ก โควตา ขและ โควตา ค มาปรับเปลี่ยนเป็นการสตอกให้เพียงพอต่อดารบริโภคแทน ปัจจุบัน น้ำตาลทรายแบ่งเป็น โควต้า ก ผลิตเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ ตามปริมาณที่ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจะกำหนดในแต่ละฤดูการผลิตน้ำตาลทรายโควต้า ข ผลิตเพื่อการส่งออกไปยัง ต่างประเทศ ส่วนน้ำตาลทรายโควต้า ค ผลิตเพื่อการส่งออกได้ หลังจากที่ โรงงานผลิตน้ำตาลทรายได้ครบตามปริมาณที่จัดสรรให้ตามโควต้า ก และ โควต้า ข – สำนักข่าวไทย