กทม. 20 ธ.ค.-ปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ หรือข่มขืน ไม่ว่าจะในหญิงหรือชาย หนุ่มสาว หรือสูงวัย นับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างพยายามหาทาง แต่ปัญหายังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น จนนำมาสู่แนวคิดกลับไปใช้การเคอร์ฟิว
ยังคงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าสำหรับปัญหาความรุนแรงทางเพศ ล่าสุดมีคดี 5 โจ๋รุมโทรมเด็กสาว 12 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสังคมไทยนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยสถิติการรับแจ้งกรณีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.60-29 ส.ค.61 มีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศจำนวนทั้งสิ้น 419 คน ในจำนวนนี้ถูกกระทำจากบุคคลในครอบครัว จำนวน 151 คน
สอดคล้องกับข้อมูลจากมูลนิธิปวีณา สถิติการร้องเรียนเรื่องข่มขืนอนาจาร ในปีนี้ 768 ราย จากตัวเลขพบว่าปี 61 มากกว่าปี 60 ถึง 21% ผู้เสียหายอายุน้อยสุดเด็กหญิงวัย 1 ขวบ 6 เดือน มากสุดหญิงชรา อายุ 78 ปี
จากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศปี 60 ในหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบเกิดเหตุความรุนแรงทางเพศมากถึง 317 ข่าว ช่วงอายุของผู้ถูกกระทำเกินครึ่งเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 5-20 ปี ถึง 60.6% รองลงมาอายุ 41-60 ปี 30.9% ที่น่าเศร้าคือ มีผู้เสียชีวิต 20 ราย กลุ่มที่ถูกกระทำมากที่สุดคือ นักเรียน นักศึกษา กว่า 60% ที่น่าตกใจคือ คนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นญาติ หรือเพื่อน เป็นกลุ่มที่กระทำความรุนแรงมากที่สุด ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าสถานการณ์นี้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง แม้ทุกฝ่ายจะพยายามอย่างหนักในการรณรงค์
จากกรณีโจ๋รุมโทรมนำมาสู่แนวคิดนำการเคอร์ฟิวกลับมาใช้ หวังคุมพฤติกรรมเด็ก ประเด็นนี้กระทรวงศึกษาธิการระบุว่า ปัจจุบันตำรวจได้ใช้มาตรการนี้อยู่แล้ว หลัง 22.00 น. มีอำนาจนำตัวเด็กและเยาวชนที่ออกมาที่สาธารณะมาไว้ที่สถานีตำรวจ และโทรเรียกผู้ปกครองมารับ แต่ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ มีพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนนักศึกษามีอำนาจสุ่มตรวจได้ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตกเท่านั้น จึงเตรียมแก้กฎกระทรวงฯ เพิ่มอำนาจเทียบเท่าให้สามารถตรวจค้นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่
แม้แนวคิดนี้ยังหาข้อสรุปลงตัวตรงกลางไม่ได้ แต่สิ่งที่พอจะช่วยให้ปัญหาลดลงได้คือ ไม่ใช่แค่การที่ผู้หญิงต้องปกป้องตัวเองได้เท่านั้น แต่ต้องสร้างความเข้าใจและปรับฐานคิดให้ผู้ชายเรียนรู้ในการเคารพ ให้เกียรติใช้ชีวิตร่วมกับผู้หญิง ที่สำคัญสังคมต้องไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรง หรือมองความรุนแรงเป็นเรื่องของคนอื่น.-สำนักข่าวไทย