นนทบุรี 19 ธ.ค. – พาณิชย์เผยผลศึกษาเจาะตลาดจีนเป็นรายมณฑล พบมี 3 มณฑลมีโอกาสส่งออกสูง โดยเฉพาะเกษตรและอาหาร
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาโอกาสการส่งออกของไทยไป 10 มณฑลและเมืองสำคัญของจีนตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้กระทรวงพาณิชย์เน้นเจาะจีนเป็นรายมณฑล ว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์โอกาสการทำการค้าของไทยกับ 10 มณฑลของจีน ได้แก่ กวางตุ้ง เจียงซู เซี่ยงไฮ้ ซานตง เจ้อเจียง ปักกิ่ง เหอหนาน เทียนสิน ฟูเจี้ยน และเสฉวน ซึ่งเป็นมณฑลที่นำเข้าสินค้าถึงร้อยละ 84.2 ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน และร้อยละ 91.3 ของการนำเข้าสินค้าจากไทย โดยพบว่าไทยมีโอกาสขยายการค้ากับบางมณฑลของจีนเพิ่มขึ้นอีกมาก จึงได้ตั้งเป้าหมายผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปจีนเพิ่มเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 เพิ่มจากปี 2560 ที่มีมูลค่า 29,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับเป้าหมายการส่งออก 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น เห็นว่า 3 มณฑล ได้แก่ กวางตุ้ง มูลค่ามีมูลค่า 31,300-33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เซี่ยงไฮ้ 30,600-31,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และซานตง 15,400-16,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เหลือเป็นมณฑลอื่น ๆ โดยสินค้าที่มีความสามารถส่งออกและปัจจุบันส่งออกต่ำกว่าศักยภาพ เช่น ข้าว ไก่แช่เย็นแช่แข็ง มันสำปะหลัง ยางพาราและผลิตภัณฑ์ สินค้าอาหาร หากทำแผนผลักดันให้ดีก็มีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นอีกมากรวมเป็นพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากรวมสินค้าอื่น ๆ น่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ไทยจะผลักดันส่งออกเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าไทยกับจีนจะต้องเดินหน้าภายใต้ “3 แนวคิด 7 แนวทาง รุกตลาดจีน” โดย 3 แนวคิด คือ แนวคิดที่ 1 ต้องกำหนดสินค้าที่มีศักยภาพ โดยคัดเลือกสินค้าจาก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นสินค้าที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกต่ำ กลุ่มที่ 2 เป็นสินค้าที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกสูง แต่ส่งออกไปยังมณฑล เมืองนั้นต่ำกว่าศักยภาพของไทยในตลาดโลก และกลุ่มที่ 3 เป็นสินค้าที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกสูง และส่งออกไปมณฑล เมืองนั้นสูงกว่าศักยภาพของไทยในตลาดโลก
ส่วนแนวคิดที่ 2 คือ ประสานนโยบายการพัฒนาที่สำคัญของ 2 ประเทศ เช่น นโยบาย OBOR ของจีน กับ EEC และ Thailand 4.0 ของไทย ทำให้เห็นแนวโน้มการพัฒนาเฉพาะด้านของแต่ละมณฑล ทำให้เห็นถึงโอกาสที่จะเชื่อมโยงสินค้า ความร่วมมือและการลงทุนของไทยแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม และแนวคิดที่ 3 คือ ความถนัด ความเชี่ยวชาญ หรือ DNA เฉพาะของแต่ละมณฑล เมือง ซึ่งจีนมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละเมืองสำคัญไว้แล้ว โดยเฉพาะที่อยู่บนเส้นทาง OBOR ซึ่งสามารถจับคู่ได้กับบางพื้นที่หรือบางจังหวัดของไทย
ขณะที่ 7 แนวทาง ประกอบด้วย 1.สินค้าที่มีความสามารถทางการแข่งขัน แต่ยังส่งออกไปจีนต่ำกว่าศักยภาพ ต้องเน้นทำตลาดแต่ละมณฑลอย่างตรงเป้าหมาย 2.สินค้าที่ไทยส่งออกได้ดีอยู่แล้ว เน้นรักษามาตรฐานสินค้าและต่อยอดความนิยม 3.สินค้ามีความสามารถทางการแข่งขันต่ำ เน้นการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร 4.เน้นเจาะพื้นที่รายเมืองที่มีศักยภาพสูง เช่น เซี่ยงไฮ้ ซูโจว เมืองจี้หนาน และเมืองชิงเต่า เป็นต้น 5.เน้นการทำตลาดแบบ O2O (Online/Offline) 6.ร่วมก่ออิฐสร้างเมืองใหญ่ โดยให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองที่ยังมีการนำเข้าไม่มากนัก เช่น เสฉวน และเหอหนาน เป็นต้น และ 7.มุ่งเน้นและเร่งสร้างความสัมพันธ์ทุกมิติ เช่น ระดับประเทศกับระดับมณฑลเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย