กรุงเทพ ฯ 19 ธ.ค. – “อมรเทพ” ชี้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 เพื่อลดความเสี่ยงภาวะฟองสบู่จากพฤติกรรมเก็งกำไร พร้อมคาดแบงก์ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยจากความเสี่ยงภาคการเงินปัจจุบันที่มาจากพฤติกรรมเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ หรือตราสารหนี้บางประเภท ซึ่งเกิดจากการที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมานานหลายปี
“การขึ้นดอกเบี้ยเปรียบเหมือนการใช้เข็มเจาะฟองสบู่เพื่อให้ลมออกมาบ้าง ฟองสบู่จะได้แฟบลง ดีกว่าปล่อยให้โตต่อเนื่องจนแตก” นายอมรเทพ กล่าว
นอกจากนี้ กนง.ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะวิกฤติในอนาคต ด้วยการเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) หรือขึ้นดอกเบี้ยตอนนี้สะสมเอาไว้เป็นกระสุนเผื่อวันหน้าจำเป็นต้องลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในที่เกิดวิกฤติหรือเศรษฐกิจชะลอลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจที่มีขึ้นมีลง
สำหรับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ0.25 นั้น มีไม่มาก และคาดว่าเป็นการขึ้นเพื่อลดพฤติกรรมเก็งกำไรเป็นหลัก จึงไม่มีเหตุผลต้องรีบขึ้นต่อเนื่อง คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งช่วงกลางปี 2562 แล้วรอดูตัวเลขเศรษฐกิจก่อนปรับอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีถัดไป
ฝั่งธนาคารพาณิชย์นั้น คาดว่าไม่น่ารีบขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง. เพราะสภาพคล่องยังสูง สินเชื่อขยายตัวไม่แรง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงขึ้นช้าและขึ้นน้อยกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากอาจขยับขึ้นได้เร็วกว่า การขึ้นดอกเบี้ยของทั้ง กนง. และธนาคารพาณิชย์ไม่น่ากระทบต้นทุนทางการเงินของผู้กู้ เนื่องจากขึ้นน้อยและขึ้นช้า แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะมีบางสิ่งที่ต้องระวังจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น
นอกจากนี้ การขึ้นดอกเบี้ยไม่น่ากระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ให้ระวังความผันผวนจากราคาสินทรัพย์ที่อาจลดลงหากผู้ลงทุนตกใจหรือขาดความเชื่อมั่นในราคาสินทรัพย์ หากผู้ลงทุนไม่ใช่ผู้เก็งกำไร ไม่ได้ก่อหนี้มากเกินไป ก็ไม่น่ากระทบจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นที่ขึ้นน้อย ขึ้นช้า และขึ้นชัดเจน อย่างไรก็ตาม การที่ กนง.เจาะฟองสบู่สกัดนักเก็งกำไร ผู้หาผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากมาก ๆ โดยไม่ได้ประเมินความเสี่ยงให้ดี หรือผู้ที่เก็งกำไรจากราคาอสังหาริมทรัพย์หรือตราสารหนี้ระยะสั้นบางประเภทโดยเฉพาะกลุ่มไม่ได้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออาจต้องระวังความผันผวนของราคาสินทรัพย์ เพราะอาจมีความเป็นไปได้ที่ผู้ลงทุนเกิดความกังวลแล้วเทขายสินทรัพย์เหล่านั้น ซึ่งจะมีผลให้ราคาลดลง หากผู้ลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้อยู่เองเป็น Real Demand ก็ไม่เป็นไร แต่หากกู้เงินมาเก็งกำไรมากเกินไปอาจต้องระวังภาวะตลาดที่ผันผวนจากฟองสบู่ที่เล็กลงได้. – สำนักข่าวไทย