สำนักข่าวไทย 18 ธ.ค. – กรมการขนส่งทางบกพร้อมนำระบบ “ใบขับขี่อัจฉริยะ” ใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน คาดเริ่มได้ต้นปี 62 นี้
ไปคุยเรื่องที่ผู้ขับรถทุกคนต้องรู้ เพราะว่าตามกฎหมาย การขับรถต้องมีใบอนุญาตขับขี่ทุกคน แน่นอนการออกใบอนุญาต ก็ถือเป็นบริการภาครัฐที่ให้บริการแก่ประชาชนใช้เพื่อยืนยันตัวตนของผู้ขับขี่ รวมถึงการควบคุมตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ของผู้ขับรถด้วย
เมื่อเป็นแบบนี้ ก็ถือเป็นงานอีกส่วนหนึ่ง ที่สามารถนำเทคโนโลยี ระบบการสื่อสารมาใช้ปรับปรุง เพื่อให้เกิดความสะดวกมากขึ้น โดยกรมการขนส่งทางบก ได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ในรูปแบบระบบใบขับขี่อัจฉริยะ มุ่งตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ในรูปแบบใบขับขี่ดิจิทัล เสมือนจริงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สามารถตรวจสอบข้อมูลของบัตร ผ่านแอพพลิเคชั่น ที่ติดตั้งบนสมาร์ทโฟน หรือโทรศัพท์มือถือ โดยคุณพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตั้งเป้าหมายที่จะนำมาใช้ให้ได้ ตั้งแต่มกราคมปี 2562
ที่นี้มาดูรายละเอียดกันบ้าง โดยการเชื่อมข้อมูลใบขับขี่ลงไปในแอพลิเคชั่นบนมือถือ เพื่อใช้แสดงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ เมื่อถูกเรียกตรวจสอบเจ้าหน้าที่สามารถตรวจความถูกต้องของบัตรได้โดยการสแกนคิวอาร์โค้ดจากแอพพลิเคชั่นในมือถือได้ทันที รวมทั้งมีระบบแจ้งเตือนระยะเวลาหมดอายุของใบขับขี่ล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมต่อใบอนุญาต ตามกำหนดเวลา
โดยกรมการขนส่งทาบก เชื่อว่า ระบบแอพพลิเคชั่น QR ใบขับขี่นี้ จะเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ใช้ใบขับขี่ทุกประเภท หากหลงลืมใบขับขี่หรือไม่ได้พกติดกระเป๋า ก็สามารถเปิดแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือโชว์ภาพใบขับขี่ได้ แต่ว่าการใช้งานในระยะแรก ในต้นปีหน้านั้น ก็จะใช้ควบคู่ไปกับใบขับขี่รูปแบบเดิม รวมทั้งตรวจสอบใบสั่งที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและแสดงโลเคชั่นของผู้ถือใบขับขี่ เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุหรือต้องการขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน พร้อมข้อมูลส่วนบุคคล เช่น กรุ๊ปเลือด ประวัติการแพ้ยา โรคประจำตัวและสิทธิรักษาพยาบาล ใบขับขี่ดังกล่าวจะครอบคลุมทุกประเภททั้งส่วนบุคคล ใบขับขี่สาธารณะและประเภทพิเศษ
ส่วนขั้นตอนการใช้นั้น ประชาชนที่ถือใบขับขี่ธรรมดาที่ยังไม่มีคิวอาร์โค้ดด้านหลัง สามารถเข้าไปสมัครลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก ส่วนประชาชนที่ถือใบขับขี่รุ่นที่มีคิวอาร์โค้ด สามารถใช้มือถือสแกนคิวอาร์โค้ดหลังบัตรผ่านแอพพลิเคชัน “DLT QR Licence” ซึ่งรองรับการทำงานได้ทั้งมือถือ ที่เป็นระบบปฏิบัติการ Android ที่ Play Store และ iOS ที่ App เพื่อเข้าระบบได้เล
กรมการขนส่งทางบก เน้นย้ำเรื่องของความสำคัญ ที่ผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตโดยถูกต้อง เพราะมีสถิติตัวเลข หลายอย่างบ่งชี้ เช่น ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ พบว่า ผู้ขับที่ไม่มีใบอนุญาต มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต ร้อยละ 34 มากกว่าผู้ขับที่มีใบอนุญาต 2 เท่า รวมทั้งในกฎหมายขนส่งฉบับใหม่ ที่มีการรวม พ.ร.บ.รถยนต์ และขนส่งด้วยกัน แน่นอนจะมีการกำหนดบทลงโทษที่สูงขึ้น สำหรับผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตไว้ด้วย ต้องไปติดตามรายละเอียดกัน
ตำรวจกังวลใช้ใบขับขี่ดิจิทัล
ตำรวจกังวลการใช้ใบขับขี่ดิจิทัล ทำให้ยึดใบขับขี่ตาม ก.ม.จราจรไม่ได้ ทั้งไม่ชัวร์ว่าจะพิสูจน์ตัวบุคคลได้จริงหรือไม่จริง ด้านอธิบดีขนส่งฯ ยันปลอดภัยและเชื่อถือได้แน่
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในฐานะคณะทำงานแก้ปัญหาจราจร ให้สัมภาษณ์กรณีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้พัฒนาระบบใบอนุญาตขับรถ (ใบขับขี่) แบบอัจฉริยะ หรือ “ใบขับขี่ดิจิทัล” โดยจะเปิดใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น “DLTSmart Licence” บนโทรศัทพ์มือถือสมาร์ทโฟนกลางเดือน ม.ค. 62
ตำรวจเห็นด้วยกับการใช้ใบขับขี่ดิจิทัลของ ขบ. แต่ขณะเดียวกันตำรวจซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบสถานภาพในการขับรถของผู้ที่ได้รับใบขับขี่ ซึ่งต้องพกใบขับขี่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 140 เนื่องจากเมื่อพบประชาชนฝ่าฝืนกฎหมายจราจร ตำรวจจะตรวจสอบและเรียกเก็บใบขับขี่ไว้ชั่วคราวพร้อมออกใบสั่ง เพื่อใช้แทนใบขับขี่มีอายุ 7 วัน หลังจากนั้นผู้กระทำผิดต้องมาชำระค่าปรับตามวันเวลาที่ระบุไว้ในใบสั่ง จึงกังวลว่าการใช้ใบขับขี่ดิจิทัล ถ้าประชาชนกระทำผิด อาจจะเรียกเก็บใบขับขี่ไม่ได้
นอกจากนี้อาจมีปัญหาเรื่องรายละเอียดการตรวจสอบข้อมูลในแอพฯ กับผู้ถือใบขับขี่ ว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ หรือเป็นใบขับขี่ของบุคคลนั้นจริงหรือไม่ อาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพใช้ข้อมูลของบุคคลอื่นได้
ดังนั้น ตำรวจจะเร่งประสานเข้าไปหารือกับ ขบ. เกี่ยวกับรายละเอียดแนวทางปฏิบัติโดยเร็ว ก่อนนำมาใช้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบกับประชาชน ส่วนความคืบหน้าการเชื่อมระบบข้อมูล สตช. กับ ขบ. ในการอายัดทะเบียนและไม่รับชำระภาษีประจำปีกับผู้ที่ไม่ชำระค่าปรับจราจรหรือการเชื่อมใบสั่งนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนต้องให้เชื่อมต่อได้ในเดือน ธ.ค. นี้
ด้านนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดี ขบ. กล่าวว่า ข้อกังวลของตำรวจเรื่องเทคโนโลยีที่นำมาใช้พัฒนาแอพฯ สามารถออกแบบเพิ่มข้อมูลในการยึดใบขับขี่ เช่น รายละเอียด วัน และเวลายึดใบขับขี่ สำหรับความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือข้อมูลในแอพฯ กับผู้ถือใบขับขี่เป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่นั้น ระบบดังกล่าวจะคล้ายการโอนเงินผ่านแอพฯ มือถือของธนาคาร (อีแบงก์กิ้ง) ซึ่ง ขบ. มีการจัดทำข้อมูลอย่างถูกต้อง ปลอดภัยและเชื่อถือได้เป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนตัวของประชาชนที่มาขอทำใบขับขี่ ส่วนบุคคลที่จะดึงข้อมูลไปใช้ เช่น ตำรวจ ต้องหารือรูปแบบการนำไปใช้อีกครั้ง .- สำนักข่าวไทย