กทม. 15 ธ.ค.-ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งหนังสือถึง 3 กระทรวง ย้ำยาฆ่าหญ้าอันตรายถึงชีวิต เร่งหน่วยงานเสนอแผนควบคุมสารพาราควอต และพร้อมยกเลิกภายใน 1 ปี
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่าได้ลงนามในหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการวัตถุอันตราย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อเสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงกฎ หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานในการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอตและขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่าตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เคยประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่อง การปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอตและการพัฒนาสารชีวภาพทดแทน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ในที่ประชุมนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอตภายใน 1 ปี เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายของผู้ใช้ และผู้ที่ได้รับสารเคมีโดยไม่ตั้งใจ อันเกิดจากการใช้และการสัมผัสสารเคมีที่ปนเปื้อนทั่วไป ซึ่งนอกจากจะเป็นพิษต่อคนและสัตว์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 (1) (2) ประกอบมาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 เสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563โดยให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ความเห็นแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในการออกประกาศตามมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต จากเดิมชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 และเสนอแนะให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศปรับปรุงแก้ไขบัญชี 1.1 ลำดับที่ 352 ลำดับที่ 353 และลำดับที่ 354 แนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ในกรณีที่มีการระบุชื่อวัตถุอันตรายเป็นภาษาอังกฤษไว้ในประกาศ จะต้องมีคำอ่านและคำแปลเป็นภาษาไทยกำกับไว้ด้วยเสมอ สำหรับกรณีการจำกัดและการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันตรายพาราควอตแก่ประชาชนนั้น กรมวิชาการเกษตรต้องเสนอแผนหรือมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย รวมถึงต้องจัดทำแผนปฏิบัติการประชาสัมพันธ์เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับประชาชนภายใน 30 วัน และให้ดำเนินการรณรงค์ให้ประชาชนรับรู้ภายใน 90 วัน ทั้งนี้จะต้องเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อแผนนั้นด้วย
นอกจากนี้ยังได้เสนอแนะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศเกี่ยวกับการจำกัดการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต เพื่อควบคุม ป้องกัน บรรเทา หรือระงับอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม และท้ายสุดได้เสนอแนะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการพัฒนา แนวทางการใช้สารชีวภัณฑ์ขึ้นมาทดแทน หรือวิธีอื่นใดที่ปลอดภัยสำหรับการกำจัดวัชพืช แทนการใช้สารเคมีพาราควอต ภายใน 180 วัน ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดนี้ได้ขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มและดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือจากผู้ตรวจการแผ่นดิน
“การหาสารชีวภัณฑ์เพื่อทดแทนสารเคมี เชื่อว่าภูมิปัญญาของเกษตรกรไทยนั้นทำได้ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับประโยชน์ อาจเป็นเรื่องยากแต่ว่าเราต้องทำเพื่อคนไทยและลูกหลานเราในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตรเป็นอย่างดี ดังนั้นเพื่อเป็นการฝ่าทางตันและหาทางออกในการหาวิธีทดแทนการใช้ยาฆ่าหญ้าที่มีพิษร้ายแรง”พล.อ. วิทวัส กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ทึ่ 17 ธันวาคมนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้เชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว มาร่วมหารือเพื่อเสนอวิธีที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย.-สำนักข่าวไทย