เวียงจันทน์ 14 ธ.ค.- นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย – ลาว ครั้งที่ 3 เห็นพ้องพัฒนาความเชื่อมโยงทุกมิติ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมให้เป็นรูปธรรม ขณะที่ไทย ให้คำมั่นในการเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 จะผลักดันความยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนทุกด้าน
“กมลเนตร นวลจันทร์” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ติดตามภารกิจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เดินทางมาร่วมการประชุมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย-ลาว ครั้งที่ 3 (Joint Cabinet Retreat : JCR) ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว ) ระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้ รายงานว่า นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย-ลาว ครั้งที่ 3 ที่หอประชุมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีสปป. ลาว ในช่วงก่อนการประชุมฯ เต็มคณะว่า ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในการ ยกระดับ ความร่วมมือให้เป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งไทยและลาว จำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนของสองประเทศได้รับประโยชน์จากการพัฒนา และความเชื่อมโยงที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันและเร่งรัดความร่วมมือต่าง ๆ ให้มีความคืบหน้าและได้ผลเป็นรูปธรรม อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ไทยยืนยันสนับสนุนนโยบายของลาวในการปรับประเทศจากที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล หรือ Land-locked ให้เป็นศูนย์รวมและกระจายสินค้าของลุ่มน้ำโขง หรือ Land-linked และนโยบายการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งออกของ สปป. ลาว และจะร่วมมือกันเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ทั้งสองประเทศได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านการพัฒนา ไทย-ลาว (Joint Development Strategy: JDS) เพื่อสอดประสานการพัฒนาระหว่างกันให้ยั่งยืนในทุกมิติโดยจะร่วมกันลดอุปสรรคการค้า การลงทุน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อที่สอดคล้องกับแผนแม่บท ACMECS ในระดับอนุภูมิภาค นายกรัฐมนตรี ยังให้คำมั่นว่าในโอกาสที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 พร้อมทำงานร่วมกันกับลาวและกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียนในทุกด้าน
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างการประชุมฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งสองฝ่าย ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินความร่วมมือใน 3 มิติ ได้แก่ 1. มิติด้านการเมืองและความมั่นคง โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว เห็นพ้องที่จะรักษาความสงบตามแนวชายแดน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวชายแดน
2.มิติด้านเศรษฐกิจ โดยพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายสมดี ดวงดี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป.ลาว เห็นพ้องที่จะพัฒนาความเชื่อมโยง ทั้งด้านการท่องเที่ยว คมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนแก่ทั้งสองฝ่าย
และ 3.มิติด้านสังคมและการพัฒนา โดยพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีและนายสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าความร่วมมือระหว่างไทย- ลาว ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์พิเศษที่ประชาชนของสองประเทศมีระหว่างกัน และบนพื้นฐานของความเคารพ ความไว้เนื้อเชื่อใจและความเข้าใจอันดีต่อกัน
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ขณะที่การเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน นายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม อาทิ การส่งเสริมการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่ -เวียงจันทน์ โดยการร่วมมือกันพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R 11) การซ่อมแซมบูรณะความเสียหายสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) และแห่งที่ 4 (เชียงของ – ห้วยทราย) การดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) และการศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี – สาละวัน) การยกระดับจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก จังหวัดพะเยาของไทย รวมถึงการเร่งรัดเปิดใช้พื้นที่ควบคุมร่วม (Common Control Area: CCA) จุดแรกระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่บริเวณด่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต)
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นควรให้เกิดการเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้ตามเป้าหมาย 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2564 ซึ่งจะช่วยลดการขาดดุลการค้าของลาวด้วย การจัดทำความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดนไทย – ลาว การยกระดับด่านของสองฝ่ายให้มีความเท่าเทียมกัน และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมเพื่อการพัฒนาไทย – ลาว รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านช่องทางคมนาคมทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำ รวมถึงใช้ประโยชน์จากระบบโลจิสติกส์ของไทยเพื่อเชื่อมต่อกับ EEC ซึ่งเป็นประตูออกสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ทางด้าน นายกรัฐมนตรีแห่งสปป.ลาว ยังยืนยันความพร้อมที่จะสนับสนุนบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียน ในปี 2019 พร้อมขอบคุณน้ำใจคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมที่แขวงอัตตะปือ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยยืนยันให้ความร่วมมือกับสปป.ลาว ในการเร่งฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว โดยจะดำเนินโครงการสร้างที่พักให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซ่อมแซมสะพานที่แขวงอัตตะปือ และให้ความร่วมมือด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวตามที่ฝ่ายลาวประสงค์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ได้มีพิธีมอบเงินช่วยเหลือให้ฝ่ายลาวจากการที่รัฐบาลไทย เปิดรับบริจาคจากประชาชน ในนาม “น้ำใจไทยสู่ สปป.ลาว” กรณีอุทกภัย แขวงอัตตะปือ เพื่อนำไปฟื้นฟู มูลค่า 75 ล้านบาท และ พิธีมอบอาคารโครงการพัฒนาวิทยาลัยพละศึกษา สปป.ลาว มูลค่า 50 ล้านบาท
จากนั้น นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีไทย-สปป.ลาว เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานความร่วมมือพลังงานไฟฟ้าครบรอบ 50 ปี สายส่งสายสัมพันธ์พลังงานลาว-ไทย มั่นยืน ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในเวลา 16.00 น. .- สำนักข่าวไทย