กรุงเทพฯ 13 ธ.ค. – กระทรวงเกษตรฯ เร่งประสานกระทรวงมหาดไทย ตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตรจัดทำแผนปฏิบัติการ มั่นใจดูดซับยางพาราออกจากระบบไม่ต่ำกว่า 1.44 ล้านตัน ดันราคาพุ่ง 5 บาทต่อกิโลกรัม
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กำลังเร่งประสานกรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เชิญทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาประชุม เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแบบและสูตรก่อสร้างถนนตาม “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง ข้อแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราสำหรับท้องถิ่น” รวมถึงรับทราบแนวทางนำงบประมาณของท้องถิ่นในโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร รวม 75,032 หมู่บ้าน และ 7,255 ตำบล รวมระยะทาง 75,032 กิโลเมตร ใช้งบประมาณสะสมของ อปท.กว่า 92,327 ล้านบาท
สำหรับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ นั้น ได้เร่งกรมชลประทานสร้างถนนคันคลองชลประทาน 53 จังหวัด แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ถนนงานยางพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีตซึ่งใช้ยางพาราผสมกับยางมะตอยและหินเกล็ดและถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพารา ซึ่งใช้ยางพาราผสมกับลูกรัง ผงปูนซีเมนต์ และน้ำ ทั้งนี้ ทุกโครงการจะรับซื้อน้ำยางสดหรือน้ำยางข้นยางพาราจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง
“ขณะนี้กำลังประสานกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติงานโครงการ ประกอบด้วย อปท. การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยให้เกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จังหวัดประสานงานและอำนวยความสะดวก สำหรับแบบก่อสร้างถนนนั้น เป็นถนนชั้นพื้นฐานหนา 15 เซนติเมตร กว้าง 6 เมตร ซึ่งระยะทาง 1 กิโลเมตรใช้น้ำยางพาราประมาณ 12 – 19 ตันขึ้นอยู่กับลักษณะของดินในพื้นที่ อีกทั้ง อปท.แต่ละแห่งแจ้งความจำนงว่าจะสร้างถนนที่มีระยะทางยาวมากกว่า 1 กิโลเมตร จึงคาดว่าจะใช้น้ำยางสดไม่ต่ำกว่า 1.44 ล้านตัน หรือคิดเป็นน้ำยางข้น 720,000 ตันแน่นอน ทำให้สตอกยางทั้งในประเทศและของโลกลดลงโดยอัตโนมัติ เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก วันนี้ราคายางพาราแผ่นรมควันที่ตลาดกลางสงขลาอยู่กิโลรัมละ 41.62 บาท ดังนั้น หากการใช้ในประเทศมากขึ้นตามนโยบายที่วางไว้ คาดว่าจะทำให้ราคายางพาราปรับสูงขึ้น 5 บาทต่อกิโลกรัม” นายกฤษฎา กล่าว
ทางด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า สั่งการให้ กยท.ทุกจังหวัดขอความอนุเคราะห์ผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเร่งด่วนประสาน อปท. เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแบบและสูตรก่อสร้างตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการ ทั้งนี้ หน้าที่หลักของ กยท. คือ จัดหาน้ำยางพาราให้แก่อปท. รวมถึงอำนวยความสะดวกจัดหาเครื่องมือจำเป็น หากพื้นที่ใดมีน้ำยางพาราเพียงพอ ทาง อปท. สามารถรับซื้อจากสถาบันเกษตรกรโดยตรงได้เลย แต่พื้นที่ที่ไม่มีน้ำยางหรือมีไม่เพียงพอได้กำชับให้ กยท. จังหวัดจัดหาจากพื้นที่ใกล้ที่สุด เพื่อลดต้นทุนขนส่ง กรณีไม่เพียงพอ กยท. ส่วนกลางสามารถจัดส่งให้ได้ทันที เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ซึ่งผลดีจะเกิดแก่เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่สามารถขายน้ำยางได้มากขึ้นและราคาสูงขึ้น.-สำนักข่าวไทย