ขอนแก่น 12 ธ.ค. – รมว.อุตฯ เตรียมผลักดันพื้นที่อีสานตอนกลางและตอนบนเป็นเขตเศรษฐกิจชีวภาพครบวงจร นำร่องอ้อย
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นที่สมาคมชาวไร่อ้อย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น พร้อมกล่าวว่า รัฐบาลเร่งผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่เรียกว่า “เศรษฐกิจฐานชีวภาพ หรือ Bio Economy” ซึ่งรัฐบาลต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมที่นำผลผลิตไปทำสินค้าตัวใหม่ที่มีมูลค่าสูงกว่าน้ำตาลส่งผลให้ราคาอ้อยสูงขึ้น
นายอุตตม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี 2561 – 2570 เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างน้อย 190,000 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 85,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบทางชีวภาพและมีศักยภาพด้านวัตถุดิบเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก และส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก หากมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจหลัก โดยนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) เคมีชีวภาพ (Biochemical) และชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical) ก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับสินค้าเกษตรในอนาคต และเป็นการเพิ่มรายได้จากฐานเดิมและต่อยอดไปสู่การสร้างฐานรายได้ใหม่
สำหรับพื้นที่ที่มีการผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจชีวภาพครบวงจร เพื่อยกระดับเป็น Bio Hub ตามนโยบายรัฐบาล ปัจจุบันเริ่มมีการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะนี้รัฐบาลจะต่อยอดอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพออกไปนอกเขตอีอีซี โดยภาคเอกชนสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนบนครอบคลุมจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชรและขอนแก่น หากขยายพื้นที่การลงทุนต่อไปให้ครอบคลุมในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนบนในจังหวัดกาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มุกดาหาร และอุดรธานี โดยต่อยอดจากอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจากอ้อยเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีฐานการผลิตแข็งแกร่งในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพให้ไปสู่ Bio Hub ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรในพื้นที่
ส่วนต่อขยายการลงทุนในโครงการ Bioeconomy ภาคอีสานตอนกลาง มีการลงทุน 29,705 ล้านบาท จังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ร่วมกับ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG),โครงการผลิตเอ็นไซม์น้ำ YeastProbiotics และ Beta-glucan ของกลุ่มบริษัท เอเชียสตาร์เทรด จำกัด (AST) และบริษัท เอเชียสตาร์แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (ASAH), โครงการ DriedYeast-เอมไซม์ไฟเตส สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร-Lactic Acid/Sugar Alcohol สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร/เครื่องสำอางของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ,บริษัท ดีเอสเอ็มนิวทริชั่นแนลโปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด (DSM), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท อูเอโนไฟน์เคมีคัลส์อินดัสตรี(ประเทศไทย) จำกัด (UENO)
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินการโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต หรือ โครงการเงินช่วยเหลือ 50 บาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 วงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท โดยรัฐบาลเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับราคาอ้อยในฤดูการผลิต (61/62) โดยจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยกับสํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 50 บาทต่อต้นอ้อย แต่ไม่เกินรายละ 5,000 ตัน โดยงวดแรกจะจ่ายเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และส่วนที่เหลือจะจ่ายให้หลังจากปิดหีบแล้ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่ออีกว่า ได้มอบนโยบายและสั่งการให้สํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายปรับบทบาท เพื่อรองรับและเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงคร้ังใหญ่ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศและปัญหาราคาสินค้าตลาดโลกตกต่ำนำมาซึ่งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมถึงการปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ส่วนอีกบทบาทหรือภารกิจที่กระทรวงอุตสาหกรรมดําเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ การพัฒนานําหน่วยงานใหม่ที่มีความพร้อม โดยดำเนินการ 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. การจัดต้ังศูนย์ปรับปรุงพันธ์อ้อยแห่งประเทศไทย (TSBC) ภายในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1 จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งศูนย์ดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางปรับปรุงพันธ์อ้อยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเทคโนโลยีชีวภาพที่ดีและทันสมัยที่สุดในเอเชีย 2. การพัฒนาศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้ง 4 ศูนย์ภาคให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางแต่ละด้าน เพื่อให้คำปรึกษาแนะนําและร่วมศึกษาวิจัยกับภาคเอกชน ประกอบด้วย ศูนย์ฯ ภาคที่1 จังหวัดกาญจนบุรี เชี่ยวชาญในด้านการปรับปรุงพันธ์อ้อย ศูนย์ฯ ภาคที่ 2 จังหวัดกําแพงเพชร เชี่ยวชาญในด้านเกษตรสมัยใหม่ ศูนย์ฯ ภาคที่ 3 จังหวัดชลบุรี เชี่ยวชาญในด้านโรคและแมลงศัตรูพืช และมีแผนในการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ และศูนย์ฯ ภาคที่4 จังหวัดอุดรธานี เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ดินและปุ๋ย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมจะขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นองค์กรที่สามารถให้ความรู้ให้คําปรึกษาแนะนํากับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมชีวภาพเกิดข้ึนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.-สำนักข่าวไทย