กรุงเทพฯ 10 ธ.ค. – กรมทางหลวงเตรียมส่งมอบแบบก่อสร้างถนนยางพาราที่ใช้น้ำยางสดเป็นส่วนผสม พร้อมกับกรมบัญชีกลางส่งราคากลางก่อสร้าง 11 ธันวาคมนี้ อปท.ทุกแห่งสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับคำยืนยันจากกรมทางหลวงว่าจะส่งมอบแบบก่อสร้างและสูตรผสมถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราที่ใช้น้ำยางสดวันพรุ่งนี้ (11 ธ.ค.) โดยสูตรใหม่มีขั้นตอนการทำไม่ซับซ้อน โดยนำน้ำยางสดมาผสมสารลดแรงตึงผิวเทดินลูกรังและผงปูนซีเมนต์ แล้วราดด้วยน้ำยางสด จากนั้นบดอัดให้แน่น นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางจะประกาศราคากลางเพิ่มเติม จากเดิมก่อนหน้านี้เป็นราคาจ้างเหมากิโลเมตรละ 1.2 ล้านบาท แต่ประสานกับกระทรวงมหาดไทยแล้วเห็นตรงกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทุกแห่งมีกองช่างสามารถดำเนินการได้ หากทำเองจะใช้งบประมาณน้อยกิโลเมตรละ 900,000 บาท จึงจะได้ถนนที่ปรับปรุงใหม่ทนทานและราคาก่อสร้างถูก
ทั้งนี้ ยืนยันว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถรับซื้อน้ำยางสดจากสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนชาวสวนยางได้โดยตรง ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง ได้แก่ คณะกรรมการสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่จะส่งหนังสือจะเสนอนายกรัฐมนตรี เพราะเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าต้องใช้น้ำยางข้น จึงเชิญชวนประธานเครือข่ายชาวสวนยางทุกจังหวัดไปคัดค้านก่อสร้างและสูตรส่วนผสมที่ศูนย์ดำรงค์ธรรม เพราะเกรงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางนั้น ยืนยันว่าไม่ต้องกังวล เนื่องจากโครงการนี้ผู้ได้รับประโยชน์ คือ เกษตรกรที่จะขายน้ำยางสดโดยตรงไม่ผ่านคนกลางแก่ อปท. เกือบ 80,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้แจ้งความประสงค์จะสนับสนุนโครงการทำถนนอย่างน้อย 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตรมาเป็นจำนวนมาก ประมาณการว่าจะใช้น้ำยางสดไม่น้อยกว่า 1.44 ล้านตัน
ด้านสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เผยผลสำรวจชาวสวนยางพารากับมาตรการรัฐจำนวน 1,086 คน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.8 เคยได้ยิน ขณะที่ร้อยละ 8.2 ไม่เคย เมื่อถามถึงความพอใจต่อมาตรการรัฐช่วยเหลือชาวสวนยางด้วยการรณรงค์สร้างถนนด้วยส่วนผสมยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร รวมงบประมาณทั่วประเทศกว่า 92,327 ล้านบาท คาดใช้ยางสดของเกษตรกร 1.44 ล้านตัน พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.1 พอใจ ขณะที่ร้อยละ 18.9 ยังไม่พอใจ
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่ามาตรการรัฐบรรเทาความเดือดร้อนชาวสวนยางน่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของชาวสวนยางได้โดยเฉพาะโครงการที่ทำให้เพิ่มมูลค่าผลผลิตของชาวสวนยางลักษณะที่ทำให้เกิดมูลค่าต่อผลผลิตโดยตรง เช่น โครงการสร้างถนนที่มีส่วนผสมยางพาราคาดว่าต้องใช้วัตถุดิบยางพารากว่าล้านตัน และโครงการอื่น ๆ ที่จะทำให้เกิดความต้องการใช้ยางพารามากขึ้น เป็นต้น จะทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าต่อผลผลิตมากขึ้นตามไปด้วย และควรมีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะการบริหารจัดการโอกาสและทุนของชาวสวนยางที่สร้างความยั่งยืนของการประกอบอาชีพชาวสวนยางได้อย่างมั่นคงและมั่งคั่งต่อไป.-สำนักข่าวไทย