กรุงเทพฯ 2 ธ.ค. – รมว. เกษตรฯ เร่งทุกหน่วยงานขับเคลื่อนโครงการปลูกข้าวโพดหลังนาให้ได้ถึง 1 ล้านไร่ ส่วนโครงการสร้างถนนยางพาราทุกตำบลกว่าหมื่นแห่ง จี้ให้เกิดผลงานจริง สั่งปลัดเกษตร-ผู้ตรวจราชการ เร่งประสานผู้ว่าราชการทุกจังหวัดขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลด่วนที่สุด
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการทางไลน์ด่วนที่สุด ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ผู้บริหารกระทรวง อธิบดี และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ประสานปลัดกระทรวงมหาดไทยเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในพื้นที่เป้าหมาย 33 จังหวัดของโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากได้รับรายงานจากหน่วยงานเกี่ยวข้องและภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ขอให้รัฐมนตรีเกษตรฯ แก้ไขปัญหาที่ทำให้โครงการไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร เนื่องจากที่ผ่านมาระดับกรมกับปลัดกระทรวงยังแก้ไขไม่ได้ จึงเสนอทางออกให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นแม่งาน ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนงานได้ดี จากที่ดำเนินการมาในจังหวัดที่ผู้ว่าราชการไม่ได้ดำเนินการเอง แต่เกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จังหวัดหรือสหกรณ์จังหวัดเข้มแข็งและมีแม่งานชัดเจนนั้น ขับเคลื่อนโครงการได้น่าพอใจ
ส่วนจังหวัดที่มอบหมายให้ 5 หน่วยงานหรือที่เรียกว่า 5 เสือ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ไปบูรณาการกัน แต่ไม่มีแม่งานนั้น กลับขับเคลื่อนช้า เพราะหน่วยงานระดับจังหวัดใหญ่เท่ากัน จึงทำงานยาก นอกจากนี้ พื้นที่ปลูกข้าวโพดในโครงการส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานจึงขยายพื้นที่ได้จำกัด ดังนั้น ควรมุ่งขยายพื้นที่ปลูกในจังหวัดซึ่งอยู่ในเขตชลประทานที่มีระบบน้ำดี แต่เมื่อไม่มีแม่งานที่เข้มแข็ง ทำให้การขยายพื้นที่ปลูกในเขตชลประทานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น อีกปัญหาที่พบ คือ ธ.ก.ส. อนุมัติปล่อยกู้ให้เกษตรกรยากมาก เนื่องจากพิจารณาว่าเกษตรกรมีหนี้เดิมไม่สนใจว่าเป็นงบประมาณที่ ครม.อนุมัติพิเศษ จึงพบว่าอัตราการอนุมัติปล่อยกู้ต่ำ อีกทั้งยังมีขั้นตอนยุ่งยากในการพิจารณาอนุมัติ จนเกษตรกรหลายรายถอดใจถอนตัวทั้งที่อยากทำ เพราะมาตรการจูงใจดี รวมทั้งยังมีปัญหาขั้นตอนการจัดหาปัจจัยการผลิตและการเตรียมแปลงยุ่งยาก เนื่องจากต้องดำเนินการผ่านสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์ที่เข้มแข็งดำเนินการได้ดี ส่วนสหกรณ์ที่ไม่เข้มแข็งทำล่าช้า
นายกฤษฎา กล่าวว่า จะประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความร่วมมือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นแม่งาน ทำให้การบูรณาการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างคล่องตัว ซึ่งขณะนี้พื้นที่เป้าหมาย 33 จังหวัด มีเกษตรกรสมัครเข้าโครงการกว่า 700,000 ไร่ เหลือเวลาถึงวันที่ 15 มกราคม 2562 ถ้าแก้จุดอ่อนเหล่านี้ได้ คาดว่าถึง 1 ล้านไร่ เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังได้ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เรียกประชุมหรือกำชับให้ผู้ตรวจราชการกระทรวง 12 คน และผู้ตรวจราชการกรมทุกกรมไปตรวจติดตามและรับฟังปัญหาอุปสรรคของการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาว่าจังหวัดสามารถเชิญชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการได้เท่าที่ควรหรือไม่ หากมีปัญหาอุปสรรคในให้แก้ไขทันทีหรือหากเกินขีดความสามารถให้มายังสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทราบโดยด่วน
สำหรับโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราโดยส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาครัฐนั้น ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อตรวจสอบว่า กษ.และผู้อำนวยการการยางส่วนจังหวัด (ผอ.กยท.) ได้มาพบเพื่อชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำยางพาราไปทำถนนทุกตำบลกว่า 70,000 แห่งครบถ้วนหรือยัง อีกทั้งเตรียมชี้แจงทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งทันทีที่ครม.มีมติเห็นชอบโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) จะเสนอให้ ครม.พิจารณาวันที่ 4 ธันวาคมนี้
นายกฤษฎา กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ วางระบบการรับรายงานผลการตรวจติดตามทั้ง 2 โครงการด้วย โดยประชุมสรุปทุกสัปดาห์ แล้วรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ โดยให้เริ่มรายงานทันทีที่ผู้ตรวจราชการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ซึ่งจะต้องทำภายในวันที่ 10 ธันวาคมนี้.-สำนักข่าวไทย