ศธ.30 พย..- ศธ. เชิญจิตเเพทย์เด็กจากลอนดอน-ผู้เกี่ยวข้องภารกิจหมูป่าติดถ้ำ มาร่วมถอดบทเรียนกับนักจิตวิทยาในโรงเรียน หวังสานต่อทำงาน-พูดคุยกับเด็กมากขึ้นมอบสพฐ.เพิ่มกิจกรรมทักษะชีวิต-ฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง ผ่านกิจกรรมactive learning
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือบทเรียนนักเตะเยาวชนและโค้ชทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย” พลัดหลงอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงรายว่า ตนได้เชิญจิตเเพทย์เด็กผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จากเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ เเละผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ทีมหมูป่าอะคาเดมี่ติดถ้ำในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มาร่วมพูดคุยเเละถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยศธ.ได้เชิญนักจิตวิทยาเด็กที่ทำงานกับโรงเรียนในสังกัดสพฐ.มาร่วมฟัง หลังจากการก่อนหน้านี้ศธ.ก็เคยพูดคุยถึงเรื่องนี้มาหลายครั้ง โดยมุมมองที่น่าสนใจคือการปรับตัวของเด็กไทยในภาวะฉุกเฉินหรือสถานการณ์ร้ายเเรงไม่เหมือนกับสิ่งที่ชาวตะวันตกคาดไว้ ที่เเน่ๆคือเรื่องศาสนา ความเชื่อเเละความสามัคคีที่ทำให้เด็กทั้ง 13 คนผ่านพ้นวิกฤตครั้งนั้นมาได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการใช้ชีวิตที่ผ่านการปฏิบัติจริง เรียนรู้ด้วยตนเอง จึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนับสนุนให้โรงเรียนเน้นสอนจากการปฏิบัติจริงหรือ Active learning ไม่ใช่แค่เรียนทฤษฎีเเต่ไม่ใช้งาน ซึ่งหลายโรงเรียนมีการปรับตัวมาหลายเเห่งเเล้ว ส่วนเรื่องหลักสูตรการเอาตัวนอกนั้น ตนมองว่าหากในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตนั้น เป็นสิ่งควรจะสอนเสริมหรือเพิ่มเติมให้เด็กอยู่เเล้ว เเต่สิ่งสำคัญคือใจ ที่จะเอาชนะปัญหาต่างๆได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สอนไม่ได้ ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์เเละการใช้ชีวิต โดยจะให้นักจิตวิทยาเด็กลงพื้นที่ทำงานกับเด็กมากขึ้น จัดให้มีการเเลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก ช่วยกันคิด สนใจเเละทำงานด้วยความรักเด็กมากขึ้น ซึ่งนอกจากเรื่องจะเป็นบทเรียนสำหรับเด็กเเล้วยังเป็นบทเรียนสำคัญให้กับครู ผู้ที่ดูเเลเด็กด้วย.-สำนักข่าวไทย