กรุงเทพฯ 29 พ.ย. – กรมส่งเสริมสหกรณ์คัดเลือก 18 สหกรณ์ ส่งยางแปรรูปไปจีนแสนตัน ด้าน ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท รับซื้อยางและจัดหาเครื่องจักร
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ซึ่งนายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธาน ได้มีมติผ่านหลักการของกระทรวงเกษตรฯ ที่เสนอมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ เตรียมนำเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า เพื่อเห็นชอบการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางทุกมาตรการก่อนปีใหม่ โดยในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ผลักดันให้สหกรณ์ที่มีศักยภาพเป็นผู้ส่งออกยางแปรรูป โดยตั้งเป้าหมายส่งออกยางพาราไปจีน 100,000 ตัน ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2561 – วันที่ 31 มีนาคม 2562 ซึ่งคัดเลือกสหกรณ์ชาวสวนยาง 18 แห่งมาดำเนินการ โดยเป็นสหกรณ์ที่มีศักยภาพสูงสามารถส่งออกเอง 6 แห่ง อีก12 แห่งเชื่อมกับผู้ส่งออกเอกชน แปรรูปยางก้อน ยางแท่ง ทั้งนี้ จะรับซื้อยางจากสหกรณ์เครือข่าย 154 สหกรณ์ โดยขอวงเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท เพื่อการรวบรวมยางพาราและจัดหาเครื่องจักรเครื่องมือ โดยทำให้เสร็จก่อนฤดูปิดกรีดยางเดือนเมษายน 2562 ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ที่สหกรณ์ตั้งอยู่มีรายได้จากการขายยางพาราได้ในราคาที่สูงขึ้น ไม่ถูกคนกลางกดราคา ซึ่งจะสำรวจความสามารถสหกรณ์แห่งอื่น ๆ เปิดโอกาสให้สหกรณ์ที่เข้มแข็งเพิ่มการแปรรูปรับซื้อยางจากเกษตรกรได้มากขึ้น ขณะนี้ตลาดสำคัญ คือ จีน และเตรียมพร้อมเปิดตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นอีก
นายกฤษฎา กล่าวว่า ที่ประชุม กนย.มีมติเห็นชอบโครงการแก้ปัญหายางพารา เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า ประกอบด้วย 1. โครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. 2561 – 2562 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพของเกษตรกรชาวสวนยาง เป้าหมาย เกษตรกรชาวสวนยางที่มีสวนยางในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ที่เปิดกรีดแล้ว และขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก่อนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 จำนวน 999,065 ราย และคนกรีดยาง 304,266 ราย รวมเนื้อที่ 9,448,447 ไร่ โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามพื้นที่เปิดกรีดจริง ไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ (กรณีมีคนกรีดยางแบ่งเป็นเจ้าของสวนยาง 1,100 บาทต่อไร่ และคนกรีดยาง 700 บาทต่อไร่) วงเงิน 17,512,734,883 บาท ซึ่งเป็นงบของ ธ.ก.ส. และ กยท.
โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร โดยการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำน้ำยางพาราไปใช้สร้างถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราทั่วประเทศจำนวน 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละอย่างน้อย 1 กิโลเมตร ระยะทางไม่ต่ำกว่า 75,032 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถดูดซับน้ำยางออกจากตลาดในปริมาณมาก ทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้นระยะยาว โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร จัดทำแผนปฏิบัติงานโครงการ โดย กยท. สนับสนุนให้ อปท.ดำเนินโครงการปรับปรุงถนนภายในหมู่บ้านให้เป็นถนนที่มีการนำยางพารามาเป็นส่วนผสม ซึ่งเป็นถนนพื้นฐานหนา 15 เซนติเมตร กว้าง 6 เมตร คาดว่าเป็นการส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศมากขึ้น โดยการนำยางพารามาใช้ในการทำถนนนั้นจะใช้น้ำยางสด 1,440,614.4 ตัน หรือคิดเป็นน้ำยางข้น 720,320.2 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,326.9600 ล้านบาท วงเงิน 92,327.4320 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากเงินสะสมของ อปท.
และโครงการลดพื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยส่งเสริมปลูกพืชอื่นทดแทนหรือปลูกแซมในสวนยางพารา จากนี้ไปสวนยางพาราที่ปลูกใหม่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปให้ความรู้เรื่องการจัดแปลง โดยเว้นระยะห่างของต้นยางพาราเพื่อให้สามารถปลูกพืชอื่นแซมได้ เป็นการช่วยลดความเสี่ยงด้านผลกระทบจากราคายางตกต่ำและช่วยเพิ่มรายได้ รวมถึงสร้างทางเลือกในอาชีพ เพื่อความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง จึงตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อดูแลกำกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และ กยท.-สำนักข่าวไทย