กรุงเทพฯ 8 ก.ย.- รมว.พลังงาน ย้ำไม่ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ แต่อาจล่าช้า ส่วนข้อเสนอภาคเอกชน ที่ให้ก่อสร้างในพื้นที่ทับสะแก และ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี รับไว้ศึกษา แต่ยังไม่ได้อยู่ในแผน
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าในงานสัมมนา “พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก” ที่จัดโดย สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ประเทศไทยเดินหน้าตามแผนพลังงาน 20 ปีของประเทศ ที่คำนึงถึงความมั่นคงเพียงพอราคาไม่แพง ส่งเสริมพลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พร้อมๆกับการกระจายเชื้อเพลิงที่ไทยต้องจะลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติไปสู่ถ่านหินมากขึ้น ดังนั้นจึงขอยืนยันจะไม่ยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ 800 เมกะวัตต์ แม้ว่าอาจจะล่าช้าด้วยกระบวนการรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะคณะกรรมการไตรภาคีก็ตาม
ส่วนข้อเสนอของทั้งภาคเอกชนและประชาชนที่เสนอ ให้กระทรวงฯพิจารณาก่อสร้างโรงไฟฟ้า ถ่านหิน ในพื้นที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ พื้นที่ของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี จังหวัดระยองนั้น ในเรื่องนี้ยังไม่ได้อยู่ในแผนงานที่ชัดเจน เหมือนกับโรงไฟฟ้ากระบี่และโรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งเมื่อมีข้อเสนอก็คงต้องศึกษา เพราะในแผนยังมีความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติม โดยในกรณีบีแอลซีพีนั้น เนื่องจากเป็นเอกชน ก็ต้องดูว่าจะมีการเปิดประมูลตามโครงการไอพีพีในนาคตหรือไม่
“ความต้องการใช้ไฟฟ้ายังขยายตัวปีนี้มีความต้องการสูงสุดเกือบ 30,000เมกะวัตต์ รัฐบาลเดินหน้าตามแผน 20 ปี โดยทั้งส่งเสริมพลังงานทดแทน ลดการใช้พลังงาน กระจายเชื้อเพลิง ซึ่งพลังงานทดแทนต้องยอมรับว่าหากใช้มากก็กระทบค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากเงินอุดหนุนขณะนี้อยู่ที่ 21 สตางค์/หน่วย จึงต้องทบทวนว่าเงินอุดหนุน (FIT) ต้องปรับลดอย่างไรให้เหมาะสม”รมว.พลังงานกล่าว
นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันพลังงาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. สนับสนุนให้กระจายเชื้อเพลิง ใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด โดยหากภาครัฐสามารถสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ได้ ก็จะเป็นต้นแบบที่ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นเทคโนโลยีนี้
ทั้งนี้ อาเซียนจะมีการลงทุนด้านพลังงานเพิ่มขึ้นรวม 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นภูมิภาคที่มีความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้น และได้รับผลกระทบจากโครงสร้างพลังงานโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาดและการแข่งขันเสรี จึงต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง -สำนักข่าวไทย