กรมสบส.20 พ.ย.-อธิบดีสบส.ลงดาบ รพ.พระราม 2 ผิดรวม 5 กระทงจากเหตุ น.ส.ช่อลัดดาเหยื่อสาดน้ำกรดเสียชีวิต เตรียมร้องทุกข์กล่าวโทษที่สน.ท่าข้าม พรุ่งนี้ ขณะที่ผู้เข้าข่ายมีความผิดทางกฎหมาย มีทั้งผู้ดำเนินการ และผู้รับใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาล ขณะที่พยาบาลรับผิดเองดูคนไข้ไม่รายงานแพทย์เวร ส่งเรื่องสภาการพยาบาลพิจารณา
นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงผลการสอบ รพ.พระราม 2 กรณีปฏิเสธรักษาเหยื่อสาดน้ำกรด จนเสียชีวิต ว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯได้สรุปข้อร้องเรียนฯ โดยใช้ระยะเวลาพิจารณารวม 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.จนถึง19 พ.ย. พบว่าต้องมีการเปรียบเทียบปรับและยังมีในส่วนของโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.สถาน พยาบาล 2541 และฉบับปรับปรุง 2559 จึงต้องเตรียมร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อ สน.ท่าข้าม สถานที่เกิดเหตุ ในวันพรุ่งนี้(21 พ.ย.) โดยผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ มีผู้ดำเนินการสถานพยาบาลและผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาล ขณะที่ความผิดของพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ ส่งให้สภาการพยาบาลดำเนินการพิจารณา เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับจริยธรรม
นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า สำหรับการพิจาณาความผิดนำเรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเปรียบเทียบกับความผิดตาม พ.ร.บ.พยาบาล นับตั้งแต่ น.ส.ช่อลัดดา ออกจากบ้านมายังรพ.พระราม 2 และรพ.ปลายทาง พบความผิด 5 กรณีประกอบด้วย 1.กรณีพยาบาลวิชาชีพ ทำการประเมินวินิจฉัย โดยไม่รายงานแพทย์ เข้าข่ายปล่อยปะละเลยให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ ดำเนินการแพทย์และไม่ควบคุม ให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพ ซึ่งทั้งพยาบาลและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลมีความผิดตาม มาตรา 34(1) และ34(2) มีโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีที่ 2 เมื่อได้รับรายงานจากพยาบาลผู้ให้การดูแลและมีการรายงานให้ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล พร้อมสั่งการให้รับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล ย่อมแสดงว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อนที่จะนำผู้ป่วยนอนใน รพ.ตามที่ได้สั่งการ ซึ่งลักษณะนี้อาจจะเข้าข่ายไม่ควบคุม ดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสถานพยาบาลปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด จึงเข้าข่ายมีความผิดตามม.34 (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท
กรณีที่3 การที่ไม่ได้ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยและตรวจคัดแยกผู้ป่วยในระดับฉุกเฉิน ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขและพ.ร.บ.สถานพยาบาล มาตรา35 (3)และ(4) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท
กรณีที่ 4 ไม่ได้ดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยในสภาพอันตรายและจำเป็น ต้องได้รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน กรณีนี้อาจเข้าข่าย ผู้รับอนุญาต และผู้ดำเนินการสถานพยาบาลไม่ได้ควบคุมดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ผิด ตามมาตรา 33/1 แต่มีโทษตาม มาตรา 36 วรรค 1 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีที่ 5 เมื่อผู้ป่วยประสงค์ไปรับการรักษาต่อในโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการส่งต่อช่วยเหลือ ก็เข้าข่ายมีความผิดตาม มาตรา 36 (3) มีโทษจำคุก 2 ปี หรือ ปรับ ไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ขณะที่ในส่วนความผิดของพยาบาล ที่ปฏิบัติหน้าที่ ในการดูแลรักษาไม่ได้มีการรายงานแพทย์เวร ประจำห้องฉุกเฉิน เข้าข่ายมีความผิดทางจริยธรรม ส่งเรื่องให้สภาการพยาบาลตรวจสอบ เนื่องจากทางคณะกรรมการได้มีการซักถามข้อเท็จจริงและพยาบาลก็ให้การยอมรับ อีกทั้งในตารางแพทย์ปฏิบัติหน้าที่ ก็มีรายชื่อแพทย์เวรประจำระบุชัด และมีการรายงานการทำงานของแพทย์
ส่วนเรื่องการก่อสร้างปรับปรุงอาคารจอดรถของ รพ.พระราม 2 ให้เป็นอาคารผู้ป่วยนอกนั้น นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการคำสั่งให้ปิดการใช้อาคารดังกล่าวแล้ว และทำหนังสือให้มีการแก้ไข ภายใน 15 วัน หากเพิกเฉย อาจได้รับโทษถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต .-สำนักข่าวไทย