กรุงเทพฯ 19 พ.ย. – นักลงทุนจีนแห่ลงทุนไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่า ด้านบอร์ดบีโอไอกระตุ้นการลงทุนต่อ ออกมาตรการส่งเสริมลงทุนชุดใหญ่ ดึงลงทุนโครงการใหญ่ – ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก – สนับสนุนตลาดทุน รวมทั้งออกมาตรการ “เมืองอัจฉริยะ” และเปิดประเภทกิจการใหม่ หวังยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมดึงบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) การลงทุนขยายตัวทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมายและในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับ 1 แต่ที่เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือ นักลงทุนจากประเทศจีนยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ยอดเงินลงทุนรวมประมาณ 22,000 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปี 2560 มียอดคำขอเพียง 11,000 ล้านบาท
ส่วนภาพรวมการยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 9 เดือนแรกปีนี้ มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 1,125 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 377,054 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาที่มี 1,021 โครงการ ขณะที่เงินลงทุนใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 373,908 ล้านบาท การขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 69 โดยมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 525 โครงการ เงินลงทุนรวม 290,482 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมามีมูลค่า 171,584 ล้านบาท อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองมา คือ ยานยนต์และชิ้นส่วน การท่องเที่ยว การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และดิจิทัล เป็นต้น
สำหรับการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยมี 288 โครงการ ขยายตัวร้อยละ 13 เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมามีจำนวน 255 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุน 230,554 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 117 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่าเงินลงทุน 106,126 ล้านบาท
นางสาวดวงใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศต้องการ ที่ประชุมบีโอไอได้เห็นชอบมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมภายในปี 2562โดยมุ่งเน้นส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบสูงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและเป็นกิจการในอุตสาหกรรมที่ใช้ระดับเทคโนโลยีขั้นสูง หรืออยู่ในอุตสาหกรรมฐานความรู้ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงรวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับคำขอที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 จนถึงสิ้นปี 2562 โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม คือ การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี ทั้งนี้ จะต้องเป็นโครงการที่มีเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาททุกประเภทกิจการ ยกเว้นกิจการที่ไม่มีที่ตั้งสถานประกอบการ เช่น กิจการขนส่งทางอากาศ กิจการขนส่งทางเรือ เป็นต้น ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปีขึ้นไปตามเกณฑ์สิทธิปกติ แต่ไม่เกิน 8 ปี ตั้งสถานประกอบการได้ทุกพื้นที่ทุกจังหวัดยกเว้นกรุงเทพมหานครและดำเนินการตามกำหนดเวลาทุกขั้นตอน
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ที่ประชุมยังได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นมาตรการที่ปรับปรุงมาจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับภาคการเกษตรระดับท้องถิ่นที่ใช้ในปัจจุบัน โดยมาตรการที่ปรับปรุงใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้กับคำขอที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 ถึงสิ้นปี 2563 มาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานรากนี้จะมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงกว่าเข้าไปสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถขององค์กรท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน โดยผู้ประกอบการที่เข้าไปสนับสนุนจะต้องดำเนินงานตามแผนความร่วมมือกับท้องถิ่นอย่างชัดเจนมีเงินลงทุนขั้นต่ำในการสนับสนุนแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท และหากสนับสนุนหลายรายในโครงการเดียวกันจะต้องสนับสนุนไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อราย ตัวอย่างการสนับสนุนเพื่อยกระดับขีดความสามารถขององค์กรท้องถิ่น เช่น การสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องจักร การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น การสนับสนุนเพื่อนำเทคโนโลยี IOT มาใช้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาระบบ Smart Tourism มาช่วยบูรณาการข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรการใหม่นี้ได้ขยายขอบข่ายของทั้งผู้รับและผู้ให้การสนับสนุนกิจการท้องถิ่นกว้างขึ้นจากมาตรการเดิม คือ ในส่วนของผู้รับการสนับสนุน (กิจการในท้องถิ่น) จากเดิมกำหนดไว้เฉพาะกิจการด้านการเกษตรเท่านั้น เพิ่มเป็นให้ครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมเบา กิจการท่องเที่ยวชุมชนด้วย และในส่วนของผู้ให้การสนับสนุน (ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ) จากเดิมจำกัดเฉพาะกิจการด้านเกษตรเท่านั้น ให้ขยายเป็นครอบคลุมทุกประเภทกิจการ และเป็นโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนอยู่เดิมแต่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้ หรือสิทธิประโยชน์ได้สิ้นสุดลงแล้ว ผู้ที่ได้รับส่งเสริมตามมาตรการดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในส่วนกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม ทั้งนี้ จะได้รับการยกเว้นภาษีในมูลค่าไม่เกินร้อยละ 120 ของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปจริงในการสนับสนุน เช่น ค่าก่อสร้างโรงงาน ค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม เป็นต้น
บีโอไอยังออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนพัฒนาทั้งพื้นที่ ระบบ และนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับการเป็นประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาลโดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1. กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ กำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือจะต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) และจะต้องลงทุนจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่นๆ อีกอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้าน (Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy) และจะต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นข้างมาก หากผู้ลงทุนสามารถจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะครบทั้ง 7 ด้านข้างต้นจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี(จำกัดวงเงิน) แต่หากดำเนินการไม่ครบทั้ง 7 ด้าน จะให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปีในกรณีที่ตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี ภายหลังการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง
2. กิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ กำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือโครงการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะที่จะขอรับการส่งเสริมจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยจะให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปี (จำกัดวงเงิน) ในกรณีที่เป็นการพัฒนาระบบให้กับเมืองอัจฉริยะหรือนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี ผู้พัฒนาระบบดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีเช่นกัน และหากตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่อีอีซีจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี ภายหลังการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง
3. กิจการพัฒนานิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ กำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะภายในพื้นที่ครบทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy และ Smart Environmentโดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี (จำกัดวงเงิน) และจะต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นข้างมาก เพื่อให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวทางคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะกำหนด ที่ประชุมจึงได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่จะขอรับส่งเสริมทั้งกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ และกิจการพัฒนานิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะก่อนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน
และเพื่อสนับสนุนสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและดิจิทัล ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและดิจิทัล โดยปรับปรุงเงื่อนไขประเภทกิจการศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม (Innovation Incubation Center) หลายประเด็น เช่น เพิ่มพื้นที่ขั้นต่ำจากเดิม 300 ตารางเมตร เป็น 1,000ตารางเมตร เพื่อความเหมาะสม และต้องมีแผนการบ่มเพาะเพื่อการพัฒนานวัตกรรมตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะช่วยให้มีการพัฒนาและบ่มเพาะผู้ประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม
รวมทั้งเห็นชอบให้บีโอไอเปิดให้การส่งเสริมประเภทกิจการ Maker Space หรือ Fabrication Laboratory เพื่อให้บริการเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบของตนเอง โดยต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับเป็นห้องปฏิบัติการเพื่อใช้ในงานสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ระบบสื่อสารหลักแบบใยแก้วความเร็วสูง ระบบไฟฟ้าสำรองจ่ายแบบต่อเนื่องด้วย โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
บีโอไอ ยังเพื่อเปิดให้การส่งเสริมประเภทกิจการ Co-Working Space ดึงดูดบริษัทระดับโลกที่มีชุมชนนักพัฒนาที่เข้มแข็งให้มาลงทุนในไทย ให้เพื่อเสริมภาวะแวดล้อมให้เกิดการเชื่อมโยงกับนักพัฒนาของไทย และยังช่วยส่งเสริมชักจูงสตาร์ทอัพและ VC จากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในไทยด้วย เงื่อนไขสำคัญ คือต้องจัดให้มีพื้นที่ให้บริการไม่น้อยกว่า 2,000ตารางเมตร และมีเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอาการ
นางสาวดวงใจ กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอยังได้พิจารณามาตรการสนับสนุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุนโดยบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีกร้อยละ 100 ของเงินลงทุน (โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) โดยมาตรการนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
ด้านการใช้แรงงานต่างด้าว ที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอ ได้เห็นชอบผ่อนผันเกณฑ์การใช้แรงงานต่างด้าว โดยผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายได้ทุกประเภทไม่จำกัดเพียงแรงงานต่างด้าวแบบ MOU เท่านั้น นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของกระทรวงแรงงาน จากก่อนหน้านี้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือแบบ MOU ที่รัฐบาลไทยลงนามกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำเข้าแรงงานมาทำงานในไทยเท่านั้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการบีโอไอยังอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการใหญ่ เงินลงทุนกว่า 21,774 ล้านบาท ที่ล้วนเป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และกิจการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประกอบด้วย บริษัท โปรเจน โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก เงินลงทุนทั้งสิ้น 7,693 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา โดยโครงการนี้ เป็นการลงทุนของกลุ่มบริษัท โปรเจนกรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกรายใหญ่ ที่ขยายฐานการผลิตจากเดิมที่มีโรงงานผลิต 5 แห่งในประเทศจีน เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อรองรับตลาดในแถบอาเซียน ทั้งนี้ รถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกที่ผลิตได้ในโครงการนี้ จะเป็นประเภทที่ได้มาตรฐานการปล่อยไอเสียระดับยูโร 5 และจะใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ระบบปรับอากาศ ยางรถยนต์ และชิ้นส่วนตกแต่งภายใน มูลค่ารวมประมาณ 13,702 ล้านบาทต่อปี
บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) เงินลงทุนทั้งสิ้น 11,481.6 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง โดยบริษัทได้เสนอแผนงานรวมในการลงทุนตามที่กำหนด อาทิ โครงการประกอบรถยนต์และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ โครงการนี้จะใช้วัตถุดิบในประเทศมีมูลค่ารวมกว่า 19,461 ล้านบาทต่อปี
และโครงการของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,600 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีไอ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง โดยจะเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้เป็นพื้นที่เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับการต่อยอดงานวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้จริงเกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1.ARIPOLIS หรือศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โลหะ และเครื่องจักร 2.BIOPOLIS หรือศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มีความเกี่ยวข้องในการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ และ 3.SPACE INNOPOLIS หรือศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน เทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ.-สำนักข่าวไทย