กทม. 12 พ.ย. – ความหวังของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่จะได้รับการรับรองสถานภาพของการใช้ชีวิตคู่ฉันสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ใกล้ความจริงมากขึ้น เพราะล่าสุดกระทรวงยุติธรรมกำลังอยู่ในขั้นสุดท้ายรับฟังความคิดเห็นของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับนี้ และเตรียมสรุปปรับปรุงร่างเสนอ ครม.ภายในเดือนธันวาคม
ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฉบับนี้ ได้เริ่มยกร่างมาตั้งแต่ปี 2556 และดำเนินการต่อเนื่อง โดยกระทรวงยุติธรรมร่วมกับภาคประชาสังคมเสนอแนวคิดเทียบเคียงกับต่างประเทศ และแก้ไขปรับปรุงหลายครั้ง จนได้ร่างล่าสุดที่กำลังเข้าสู้ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยตรงและรับฟังผ่านเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับนี้ ประกอบด้วย 7 หมวด 70 มาตรา สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกันที่ประสงค์จะใช้ชีวิตคู่ด้วยกันสามารถไปจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย โดยกำหนดเงื่อนไขการจดทะเบียนคู่ชีวิต ทั้งสองฝ่ายต้องเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด บรรลุนิติภาวะ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย เมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วก็จะมีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน ทั้งการอุปการะเลี้ยงดู และการจัดการทรัพย์สิน มรดก จนถึงการสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิตตามกฎหมาย ซึ่งให้สิทธิใกล้เคียงกับกับสถานภาพคู่สมรส แต่ยังคงใช้ไม่ถึงขั้นเป็น “คู่สมรส” เพราะยังไม่ครอบคลุมถึงบุตรและสวัสดิการอื่นๆ
ในการรับฟังความเห็นร่างกฎหมายคู่ชีวิตฉบับนี้ มีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่าง อย่างกลุ่มหลากหลายทางเพศรายนี้ บอกว่า แม้ที่ผ่านมาจะต้องการให้ชีวิตคู่ของตัวเองกับคนรักที่ใช้ชีวิตร่วมกันมากว่า 13 ปี ได้รับการยอมรับทางกฎหมาย และมีสถานภาพทางสังคม แต่กลับเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่คำตอบ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการตีตราตอกย้ำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ต้องการเพียงสิทธิในการสร้างครอบครัวเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยเสนอให้แก้กฎหมายครอบครัวเดิมที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุมเท่านั้น
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะรวบรวมและประมวลความคิดเห็นที่ได้จากกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งหมด มาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับนี้ให้มีความสมบูรณ์ คาดว่าผ่านขั้นตอนของกระทรวงภายในเดือนนี้ พร้อมเสนอ ครม. สนช.ตามลำดับ หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ถือว่าไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายรองรับสิทธิชีวิตคู่ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ. – สำนักข่าวไทย