รัฐสภา 15 มิ.ย.- ฝ่ายค้านสู้ “เสียงข้างมาก” ขวางรัฐบาล ดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พิจารณารวมร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เสนอญัตติสู้ ต้องโหวต 3 ครั้ง ก่อนแพ้ตามระเบียบ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯเป็นประธานการประชุม ได้เข้าสู่วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ… หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและคณะ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ
ทั้งนี้ก่อนการพิจารณาตามวาระ นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เสนอให้นำร่างกฎหมาย 3 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ…. , ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมววลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ.. ซึ่ง ครม. เสนอ และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ… ที่เสนอโดยนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์และคณะ เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน แต่ถูกทักท้วงจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เนื่องจากมองว่า ไม่สามารถรวมกันได้
โดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติคัดค้าน พร้อมกล่าวว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม อยู่ในกระบวนการที่รอการลงมติ ดังนั้นการนำร่างกฎหมายที่ยังไม่ได้รับการพิจารณามารวมย่อมทำไม่ได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ เพราะเป็นการเริ่มต้นการพิจารณาวาระแรก พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หากจะใช้เสียงข้างมากดำเนินการอาจมีผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญและทำให้กฎหมายตกไปได้ และ นพ.ชลน่าน ศรีน่าน ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน แสดงท่าทีว่า ส.ส.พรรคฝ่ายค้านจะไม่ร่วมลงมติเพื่อตัดสิน
ทั้งนี้ นายชวน ชี้แจงยืนยันว่า การเสนอญัตติเพื่อให้นำร่างกฎหมายขึ้นมาพิจารณาพร้อมกัน ตามข้อเสนอของนายชินวรณ์นั้นสามารถทำได้ และที่ผ่านมาสภาฯ เคยปฏิบัติมาก่อนในปี 2552 อย่างไรก็ตาม ตนได้หารือกับผู้ที่มีหน้าที่ปฏิบัติของสภาฯ แล้วเห็นว่าทำได้ พร้อมระบุให้เดินหน้าการลงมติเพื่อตัดสินในญัตติของนายชินวรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ได้ลุกขึ้นแสดงเหตุผลคัดค้าน พร้อมเสนอญัตติให้สภาฯ ร่วมกันวินิจฉัยและแก้ปัญหาของข้อบังคับการประชุม ตามข้อบังคับการประชุมข้อ 185 โดยมีนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยเสนอ อย่างไรก็ตามหลังจากที่ประชุมถกเถียงกันเกือบ 1 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีการลงมติตัดสิน ระหว่างการเลื่อนระเบียบวาระ กับ การวินิจฉัยข้อบังคับ โดยมติที่ประชุมเสียงข้างมาก 240 เสียง เห็นชอบกับการเลื่อนระเบียบวาระตามที่นายชินวรณ์เสนอ ขณะที่อีก 4 เสียงเห็นด้วยกับญัตติของนายจุลพันธุ์
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อจากนั้นว่า ที่ประชุมได้ลงมติเพื่อตัดสิน ว่าจะเลื่อนระเบียบวาระหรือไม่ โดยผลการลงมติเสียงข้างมาก 241 เสียง เห็นชอบกับการเลื่อน ไม่เห็นด้วย 1 เสียง ต่อด้วยการลงมติว่าจะใช้การลงมติแยกทีละฉบับหรือลงมติรวมกัน โดยเสียงข้างมาก 232 เสียงเห็นด้วยที่จะลงมติแยกทีละฉบับ ต่อเสียงที่เห็นด้วยให้ลงมติรวมกัน จำนวน 5 เสียง จากนั้นเวลา 11.50 น.ได้เข้าสู่วาระการพิจารณาตามระเบียบวาระการประชุม.- สำนักข่าวไทย