ทำเนียบฯ 12 พ.ย.- นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 ที่สิงคโปร์ เตรียมผลักดันการพัฒนายั่งยืน ร่วมกันสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จัดตั้งศูนย์อาเซียนในประเทศไทย
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกำหนดการพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายนนี้ ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของสิงคโปร์ก่อนส่งต่อให้ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 สำหรับการประชุมในครั้งนี้ สิงคโปร์กำหนดแนวความคิดการประชุมเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งโดยมีนวัตกรรมนำ ซึ่งนอกจากจะมีประเทศสมาชิก 10 ประเทศเข้าร่วมประชุมแล้ว ยังมีประเทศคู่เจรจาอีก 8 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศ ออสเตรเลีย จีน เกาหลี รัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและนิวซีแลนด์ รวมทั้งภาคีนอกภูมิภาค องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ ประเทศแคนาดา ซึ่งจะเป็นประธาน จี 7 และชิลีจะเป็นประธานเอเปกในปีหน้า กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ร่วมประชุม
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ จะมีการประชุมย่อย 14 การประชุม 2 กิจกรรม โดยการประชุมรอบปกติมี 9 การประชุม ประกอบด้วยการประชุมเต็มคณะ การประชุมร่วมกับจีน เกาหลี รัสเซีย ญี่ปุ่น อเมริกา อาเซียน บวก 3 และการประชุมร่วมกับเอเชียตะวันออกอย่างไม่เป็นทางการ การประชุมร่วมกับเอเชียตะวันออกแบบเต็มคณะ การร่วมหารือกับคู่เจรจาอย่างไม่เป็นทางการระหว่างรับประทานอาหารเช้ากับออสเตรเลียและอินเดีย การรับฟังบรรยายสรุปจากสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน การประชุมผู้นำความตกลงทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) การหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวันระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำแคนาดา ชิลี และ IMF การกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม Asean Business and Investment Summit ที่จัดขึ้นโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ปิดท้ายด้วยการส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้กับประเทศไทย
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า สำหรับแนวความคิดการประชุมเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งโดยมีนวัตกรรมนำ ไม่ได้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้นวัตกรรมให้เป็นประโยชน์กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างไร ซึ่งผู้นำทั้ง 10 ประเทศหารือกันมาตลอด ครั้งนี้นอกจากจะพูดเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนแล้ว จะพูดเรื่องการทำ Smart City ซึ่งในที่ประชุมจะบรรลุข้อตกลงว่าในประชาคมอาเซียนจะกำหนดให้เมืองต่าง ๆ ใน 10 ประเทศที่มีอยู่ 26 เมืองเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยไทยเสนอกรุงเทพมหานคร(กทม.) ชลบุรีและภูเก็ตให้เป็นเมืองอัจฉริยะ
“เมืองอัจฉริยะเป็นแนวคิดที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเมืองนั้นและทั้งประเทศ เพราะในเมืองอัจฉริยะไม่ได้พูดเรื่องเศรษฐกิจการค้าเท่านั้น แต่จะพูดถึงกลไกต่าง ๆ เสริมส้รางชีวิตความเป็นอยู่ ความมั่นคง อาชญากรรมข้ามชาติ และทุกเรื่องที่จะทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบาย ทันสมัย ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันและกำลังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลประโยชฃน์ต่อประชาชนโดยตรง นอกจากนี้จะหารือเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางด้านไซเบอร์ที่ทุกภูมิภาคให้ความสำคัญ เพราะถือว่าเป็นภัยคุกคามที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน” พล.ท.วีรชน กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยจะผลักดันประเด็นต่าง ๆ เพื่อปูรากฐานไปสู่การที่ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 3 ประเด็นสำคัญคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไทยเน้นย้ำเสมอเรื่องการร่วมกันสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนทางการพัฒนาทุกมิติ โดยเฉพาะการพัฒนาทุนมนุษย์ เพราะถ้าประชากรมีขีดความสามารถ มีศักยภาพเพิ่มขึ้น จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น และนำไปสู่แนวทางการจัดตั้งศูนย์อาเซียนในประเทศไทย เพื่อศึกษาและพัฒนาอย่างยั่งยืน
“วัตถุประสงค์สำคัญคือลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างกัน การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ด้านความมั่นคง จะผลักดันความร่วมมือของประเทศในอาเซียนให้มีขีดความสามารถเท่าเทียมกัน สามารถปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคง ทั้งที่เป็นภัยคุกคามเดิม ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ทั้งประเด็นความร่วมมือการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ การบริหารจัดการชายแดนร่วมกัน ซึ่งทุกประเทศให้ความสำคัญในการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในอาเซียน แต่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกคือปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการภัยพิบัติ ความมั่นคงทางไซเบอร์ ที่ประเทศไทยพยามผลักดันให้มีความร่วมมือต่อเนื่อง โดยหวังว่าจะผลักดันเรื่องเหล่านี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ระหว่างทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปีหน้า” พล.ท.วีรชน กล่าว
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ด้านเศรษฐกิจ ไทยมีแนวความคิดบูรณาการด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลดอุปสรรคทางการค้า ต้องสร้างความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ที่นอกจากจะมีความเชื่อมโยงทางกายภาพ การคมนาคมต่าง ๆ แล้ว ยังมีความเชื่อมโยงด้าน กฎ กติกา ระเบียบต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การประสานการปฏิบัติงาน ความร่วมมือที่ไม่มีสิ่งใดมาเป็นอุปสรรค การค้าภายในภูมิภาค การเร่งรัดการเจรจา RCEP ที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ การพัฒนาการเทคโนโลยีด้านการเงิน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดย่อม และขนาดกลาง
“ไทยย้ำให้ทุกประเทศเห็นความสำคัญของการเสริมสร้างสถาปัตยกรรมอาเซียน โดยมีอาเซียนเป็นแกนกลาง แนวคิดอินโดแปซิฟิค ซึ่งทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมและสร้างความเกื้อกูลทุกกรอบความร่วมมือ ที่จะต้องไม่เป็นอุปสรรคระหว่างกัน นอกจากนี้อาเซียนจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ซึ่งต้องควบคู่ไปกับความเชื่อมโยงทางด้านกายภาพอื่น ๆ ความเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมจึงเป็นอีกประเด็นที่ประเทศไทยจะให้ความสำคัญ” พล.ท.วีรชน กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยไม่ได้มองแต่เรื่องที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้เท่านั้น แต่มองเรื่องที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญด้วย หากไม่เร่งแก้ไขจะทำให้เกิดความเดือดร้อนในภาพรวม โดยเฉพาะปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องที่อาเซียนต้องคุยใกล้ชิด ความท้าทายในภูมิภาค อาทิ สถานการณ์ในยะไข่ ประเทศเมียนมา สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงและเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิค เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หากไม่ได้รับการแก่ไขอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความร่วมมือร่วมใจของอาเซียน
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการหารือทิวภาคีกับผู้นำสหรัฐ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการประสานเรื่องเวลา ผู้นำชิลี นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ขณะเดียวกันในการประชุมครั้งนี้จะมีเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่สำคัญ โดยที่ประชุมจะรับรองเอกสารสำคัญ 7 ฉบับ คือ1. ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือทางกงสุลโดยคณะทูตของรัฐสมาชิกในอาเซียนในประเทศที่สามแก่คนของรัฐสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ กรณีประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียนไม่มีสถานกงสุลที่จะดำเนินงานให้พลเมืองของตน แต่สามารถใช้บริการของสถานทูตประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องตกลงล่วงหน้าระหว่างประเทศนั้น ๆ ก่อน
2. เอกสารกรอบการดำเนินงานเรื่องเมืองอัจฉริยะ 3. ฐานแม่บทอาเซียน พ.ศ. 2568 เรื่องการบูรณาการสิทธิคนพิการ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อาเซียนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ 4. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการรับรองวันเยาวชนอาเซียนเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ 5. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียมและทุกคนมีส่วนร่วมของประชาคมอาเซียน 6.แถลงการณ์ร่วมของอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 24 และ 7. แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 24.-สำนักข่าวไทย