กรุงเทพ ฯ 12 พ.ย. – คนไทยมีเงินออมเพียงร้อยละ 7 เข้าขั้นวิกฤติ ไม่พอใช้หลังเกษียณ ชี้ต้องออมอย่างน้อยร้อยละ 10-15 ของเงินเดือนจึงจะพอใช้ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนต้องออมมากเพื่อใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล
ในงานสัมมนา “ระบบการออมเพื่อการเกษียณรองรับสังคผู้สูงอายุ” ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ประเทศไทยไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สุงอายุเเล้ว โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 คาดว่าในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และในปี 2574 จะทยานขึ้นสู่ร้อยละ 28 ถือว่าเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มที่ ซึ่งสิ่งที่น่าห่วง คือ ผู้สูงอายุมีรายได้ไม่พอใช้จ่าย และแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุมาจากบุตรถึงร้อยละ 34.7 แต่ลดลงจากปี 2550 ที่สัดส่วนรายได้จากบุตรอยู่ที่ร้อยละ 52.3 ซึ่งสะท้อนว่ารายได้จากบุตรมีแนวโน้มลดลงไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูพ่อแม่วัยเกษียณ ทำให้ผู้เกษียณอายุบางส่วนยังต้องทำงานต่อไปอีก ขณะที่เงินที่มาจากบำเหน็จบำนาญอยู่ที่ร้อยละ 5.9 แม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่อยู่ร้อยละ 4.4 แต่ระบบบำเหน็จบำนาญของไทยยังไม่เอื้อต่อการเก็บเงิน การออมภาคบังคับจึงเป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้น จึงต้องมีกองทุนบำเหน็จนำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้หลังเกษียณ ซึ่งขณะนี้ร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จนำนาญแห่งชาติ อยู่ในชั้นกฤษฎีกาและกำลังจะเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าจะผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้ในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่ง กบช.จะช่วยลดภาระทางการคลังของประเทศที่ต้องใช้เงินสูงถึง 700,000 ล้านบาทต่อปี มาอุดหนุนกลุ่มผู้สูงอายุ
ขณะที่ข้อมูลธนาคารโลก บ่งชี้ว่า ประชากรไทยมีเงินออมเพียงร้อยละ 7 ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา หรือนอกโออีซีดี ที่ร้อยละ 19.7 ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ร้อยละ 50.7 ของจีดีพี ขณะที่ประเทศที่มีเงินออมมากที่สุด คือ เดนมาร์กสูงถึงร้อยละ 208.4
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังออมเงินเพื่อการเกษียณน้อย อัตราการออมยังไม่น่าพอใจ โดยระดับหนี้ต่อครัวเรือนยังสูง อยู่ในระดับร้อยละ 70 -80 ของรายได้ มีเงินออมเพียง ร้อยละ 8-10 เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ โดยการออมที่เพียงพอควรออมอยู่ที่ร้อยละ 10 – 15 ของรายได้ หรือถ้ามีรายได้ 20,000 บาท ต้องมีเงินออมไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ หากคำนวณบนพื้นฐานความต้องการรายได้หลังเกษียณเฉลี่ย 16,000 บาทต่อเดือน ต้องมีเงินออมไม่น้อยกว่า 4.5 ล้านบาทหลังเกษียณ ซึ่งมนุษย์เงินเดือนที่นายจ้างมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้อาจต้องออมเงินเพิ่มขึ้นอีก เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องค่ารักษาพยาบาลในวัยเกษียณ เนื่่องจากพนักงานกลุ่มนี้ไม่คุ้นชินภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว
นอกจากนี้ การออมเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้มีเงินออมเพียงพอต่อการเกษียณต้องรู้จักการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนอีกด้วย ซึ่งจากการสำรวจพบว่าคนไทยขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ไม่รู้จักการวางแผนทางการเงิน ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข
นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวว่า บริษัทไทยที่จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีไม่ถึงร้อยละ 4 หรือประมาณ 380 กองทุน ถือว่ามีจำนวนน้อยมาก โดยมีสมาชิกประมาณ 3 ล้านคน จากจำนวนผู้มีงานทำ 37 ล้านคน และพบว่าส่วนใหญ่สมาชิกเลือกแผนลงทุนที่ไม่เหมาะสม ทำให้สมาชิกได้รับเงินจากกองทุนดังกล่าวไม่ถึง 1 ล้านบาท หลังเกษียณซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ดังนั้น คนไทยต้องรู้จักหลักการออม 3 ออม คือ ออมมาก ออมนาน ออมให้เป็น .-สำนักข่าวไทย