สำนักข่าวไทย 7 พ.ย.-มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รอฟังความชัดเจน ป.ป.ช.ให้มหาวิทยาลัยสงฆ์แจงบัญชีทรัพย์สิน ยินดีปฏิบัติตาม ที่ผ่านมาตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.อยู่แล้ว ไม่น่ามีปัญหา
พระเมธีธรรมาจารย์ (เจ้าคุณประสาร) รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กําหนดให้ นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ รวมถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ว่า เมื่อเป็นข้อบังคับต้องยอมรับและปฏิบัติตาม แต่รอบที่แล้วเมื่อปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2แห่ง คือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ป.ป.ช.ได้กำหนดให้อธิบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์แจ้งบัญชีทรัพย์และหนี้สินต่อป.ป.ช.ซึ่งอธิการบดีมจร.สมัยนั้น คือพระพรหมบัณฑิต ได้ทำตามข้อบังคับแจ้งบัญชีทรัพย์และหนี้สินตามที่ป.ป.ช.กำหนด แต่ได้รับการยกเว้น
ขณะที่ในส่วนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสังฆ์ ป.ป.ช.ไม่ได้รับข้อยกเว้น อาตมาในฐานะรองอธิการบดี มจร.ได้เคยชี้แจงไปแล้ว 3 รอบ ทั้งตอนเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งรองอธิการบดี แต่ที่แตกต่างการออกประกาศของ ป.ป.ช.ครั้งนี้ ทั้งนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดีของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งไม่ได้รับการยกเว้น ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
ส่วนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้น คณะกรรมสภามหาวิทยาลัยมาจาก 3 ส่วนคือ1.จากผู้บริหารของมหาวิทยาลัย 2. กรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง เช่น ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นต้น 3.กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมีทั้งพระมหาเถรและคฤหัสถ์ผู้ทรงความรู้
พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ยังไม่มีการพูดคุยใดๆ เนื่องจากรอความชัดเจนจากทั้งกฎหมายและการตกผลึก หรือแนวปฎิบัติจากมหาวิทยาลัยต่างๆด้วย ซึ่งก็เห็นว่าอะไรที่จะเป็นประโยชน์ เป็นช่องทางเพื่อเปิดประตูให้ผู้มีความรู้ความสามารถจากบุคคลภายนอกเข้ามาช่วยบริหารมหาวิทยาลัยและช่วยการศึกษาของชาติให้เจริญรุ่งเรืองได้ กฎหมายและระเบียบปฎิบัติอื่นๆก็ควรจะเอื้ออำนวยให้ .-สำนักข่าวไทย