สำนักข่าวไทย4 พ.ย.-จิตแพทย์ชี้การติดเกมทั่วไปและอีสปอร์ตไม่แตกต่างกัน ทุก1 ล้านคนของคนเล่นจะมีคนติดเกม1 -2หมื่นคน และ 2 แสนคนจะเป็นเสี่ยงติดเกม แนะพ่อแม่ทำเข้าใจ อย่าดีใจลูกอยู่ติดบ้าน เพราะเล่นเกม หนุนให้มีกิจกรรมอื่นเสริม สร้างกติกาการเล่น หวั่นอนาคตกลายเป็นคนขาดความรับผิดชอบ
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ในทางปฏิบัติ การเล่นเกมหรืออีสปอร์ตไม่แตกต่างกัน เพราะการติดเกมมีเกิดขึ้นได้ในทุกคนที่เล่น ในจำนวนผู้เล่น 1 ล้านคน จะมีคนเป็นผู้เสียงติดเกม 1-2 แสนคน และจะมีคนติดเกมถึง 1-2 หมื่นคน และจะมีแค่ 10 คนเท่านั้นที่สามารถเล่นเกมเป็นอาชีพ และได้เงินจากการเเล่นเกม ประกอบกับไม่มีการกำหนดรูปแบบในการเล่น ที่แน่ชัด ทั้งอายุของการเล่นหรือการแข่งขัน ทำให้คนส่วนใหญ่ กลายเป็นติดมากกว่า อีกทั้งเนื้อหาของเกม ที่เร้าอารมณ์ตื่น ยั่วยุให้เกิดการแข่งขัน เอาชนะกัน ดังนั้นพ่อแม่ต้องสร้างกติกาการเล่น และเลือกเกมที่เหมาะสมให้กับลูก ปัญหาของเด็กติดเกมมาจากพ่อแม่ไม่เข้าใจ ถึงอันตรายของเกม เห็นลูกนั่งอยู่หน้าจอ ไม่ออกจากบ้านไปไหนก็ดีใจ จริงๆแล้ว เรื่องนี้อันตราย เพราะหากเด็กติดเกมแล้ว การเปลี่ยนพฤติกรรมทำได้ยากพ่อแม่ต้องหาทางออกให้ลูกมีกิจกรรมอื่นทำ เช่น ร่วมกับในโรงเรียน เล่นกีฬา เล่นดนตรี
นพ.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ปัญหาการติดเกม กลุ่มเสี่ยงพบในวัยรุ่น และในรั้วมหาวิทยาลัย หากสอบถามข้อมูลในกลุ่มอาจารย์กิจกรรมการนักศึกษาจะพบว่าทุกมหาวิทยาลัยมีความคล้ายคลึงกัน คือเด็กนักศึกษาติดเกม ไม่เรียน หรือมาเรียนก็หลับในห้อง เรียนไม่รู้เรื่องเรื่องนี้ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และอนาคตในเด็กเล็ก ส่งผลต่อพัฒนาไอคิว อีคิว โรคอ้วนและปัญหาสายตาในระยะยาว ทั้งจอประสาทตา ส่งผลต่อความมีระเบียบวินัยในชีวิต ความรับผิดชอบ ซึ่งคล้ายกับเด็กโต ที่หากมีการสร้างกติกาการเล่นก็ขาดความรับผิดชอบ.- สำนักข่าวไทย