กทม.2 พ.ย.-นักวิชาการวงการแพทย์ ย้ำLiving Will ต่างจาก การุณยฆาต ชี้คนไทยยังขาดการวางแผนวาระสุดท้ายของชีวิต ส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัว
การประชุม ‘สร้างสุขที่ปลายทาง ปีที่2’ เปิดเวทีเสวนา ชัวร์ก่อนแชร์: Living Will คือการุณยฆาต จริงหรือ? โดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า Living Will กับการุณยฆาต มีความแตกต่างกัน ตั้งแต่การตัดสินใจ ซึ่งการ ‘การุณยฆาต’ เป็นผู้ป่วยยินยอมเท่านั้น เพื่อ ลดความทุกทรมาน จากคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ซึ่งไม่สามารถทำได้ในประเทศไทย เพราะผิดกฎหมาย
ส่วนการ Living Will คือหนังสือแสดงเจตนา เกี่ยวกับการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยเป็นการเปลี่ยนเป้าหมายการรักษาที่ยื้อชีวิต เป็นการหยุดการรักษาให้เป็นไปตามธรรมชาติ เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วย ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งทั้ง 2 กรณีมีความแตกต่างกันชัดเจน
ด้าน นพ.ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวทางการรับมือของบุคลากรทางการ แพทย์ เมื่อต้องเผชิญกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมาก เข้าสู่ระบบการรักษาโดยไร้การวางแผนครั้งสุดท้ายของชีวิต หรือ Living Will ดังนั้น การสื่อสารกับผู้ป่วย หรือญาติคนไข้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ยอมรับ บุคลากรทางการแพทย์ ยังขาดทักษะการสื่อสาร โดยหลักการสื่อสารกับคนไข้ ต้องไม่ยัดเยียดคำว่า “วาระสุดท้าย” แต่ต้องเน้นถึงการทำความเข้าใจกับญาติผู้ป่วย อธิบายถึงกระบวนการรักษา อาการของผู้ป่วยในระยะต่อไป
นพ.ชนินทร์ กล่าวอีกว่า จากผลสำรวจความคิดเห็น พบครอบครัวผู้ป่วยคนไทย มักไม่ยินยอมให้แพทย์หยุดการรักษา ที่ไม่เกิดประโยชน์กับผู้ป่วย และผู้ป่วยส่วนใหญ่ขาดการวางแผนวาระสุดท้ายของชีวิต ทำให้กระทบต่อค่าใช้จ่าย ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เข้าใจถึงข้อกฎหมาย Living Will ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ .-สำนักข่าวไทย