พะเยา, เชียงราย 30 ต.ค.- เป็นเวลา 2 วัน ที่นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่และประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่ จ.พะเยา และเชียงราย บรรยากาศและภาพรวมการประชุมเป็นอย่างไร ติดตามจากรายงาน
เสร็จสิ้นลงแล้ว สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.พะเยา และเชียงราย ซึ่งเป็นไปตามปกติที่ก่อนการประชุม นายกรัฐมนตรีและคณะจะต้องลงพื้นที่เพื่อพบปะประชาชน ไฮไลท์สำคัญที่ จ.พะเยา นายกรัฐมนตรีพบกับพ่อหมออาวุโส หมอแก้วมูล บัวเงิน ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวพะเยา ได้ทำนายถึงความสำเร็จของนายกรัฐมนตรีด้วย
และที่ จ.เชียงราย ก็มีสีสันไม่แพ้กัน เพราะนายกรัฐมนตรีโล้ชิงช้ากับชาวอาข่า ได้รับเสียงชื่นชมและปรบมือจากพี่น้องชาวอาข่าที่มารอต้อนรับ ที่สำคัญ นอกจากชาวเชียงรายแล้ว ก็ยังมีชาวเชียงใหม่ที่เดินทางมาให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะ พร้อมขอให้นายกฯ ไปเยือนที่เมืองเชียงใหม่บ้าง ซึ่งนายกฯ ก็รับปากว่าจะเดินทางไปอย่างแน่นอน
ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ทั้งแผนพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยว การคมนาคม การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในกว๊านพะเยา ส่วนด้านสาธารณสุข เน้นการป้องกันการเกิดโรคในประชาชน โดยใช้แนวทาง หมอครอบครัว ดูแลประชาชนตั้งแต่พื้นฐาน ให้ความสำคัญในการป้องกันมะเร็งในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยการจัดตั้งศูนย์รังสีรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ขณะที่การท่องเที่ยว เน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ เพราะเมืองเหนือมีศักยภาพด้านป่าและธรรมชาติอยู่แล้ว
ที่สำคัญยังมีแผนพัฒนาถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อรองรับเชื่อมโยงการท่องเที่ยว เช่น ถนนทางเข้า ที่จอดรถ และห้องสุขา รวมทั้งเชื่อมโยงถ้าหลวง-ขุนน้ำนางนอน แม่สาย-เชียงแสน และการท่องเที่ยวชายแดนด้วย
สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำที่ จ.พะเยา ได้พัฒนาโครงการก่อสร้างฝายพับได้ ภายใต้โครงการพัฒนากว๊านพะเยาอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มน้ำกักเก็บในกว๊านพะเยา โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า จะพิจารณาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ
ที่ประชุม ครม.วันนี้ ยังอนุมัติ TOR โครงการเกี่ยวเนื่องกับอีอีซี ภาคตะวันออก 4 โครงการ ประกอบด้วย การศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยกองทัพเรือและการบินไทย ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ระยะเวลาสัมปทานไม่เกิน 50 ปี การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ให้เอกชนร่วมลงทุนด้านการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในพื้นที่สนามบิน ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี โดยภาคเอกชนผู้รับสัมปทานเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงจากปริมาณผู้โดยสารเข้าออกสนามบิน
ขณะที่การพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบังเฟส 3 เปิดให้เอกชนผู้บริหารจัดการท่าเทียบเรือ และตู้สินค้า เพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 4 โครงการ คัดเลือกเอกชนผู้ลงทุนภายในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 สอดคล้องกับโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา รวม 5 โครงการที่ ครม.อนุมัติแล้ว มีมูลค่าการลงทุนรวม 650,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่า แผนลงทุนระยะยาวนี้คืบหน้าไปมากแล้ว แม้จะเปลี่ยนรัฐบาล ก็มีกฎหมายรองรับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน.-สำนักข่าวไทย