ทำเนียบรัฐบาล 7 ธ.ค. – ครม.เห็นชอบต่อสัญญาสัมปทานให้เชฟรอนอีก 10 ปี รัฐบาลยื่นข้อเสนอเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่ม ระบุรัฐได้ประโยชน์มากกว่าการให้ยุติตามสัญญา
พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามข้อกระทรวงพลังงานขยายระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2534/36 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยเลข 88/32 ออกไปอีก 10 ปี ครบกำหนดปี 2573 จากเดิมสัญญาสัมปทานจากปี 2543-2563 ระยะเวลา 20 ปี นับเป็นการเห็นชอบตามข้อสัญญาระบุไว้ใน “ไทยแลนด์ 3″ เปิดโอกาสให้ต่อสัญญาเพิ่มได้อีก 10 ปีสำหรับผู้รับสัมปทานแหล่งปิโตรเลียม ยอมรับว่าแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวในช่วงเวลาที่เหลือ 10 ปี ผลิตน้ำมันได้ 26,000 บาร์เรลล์ต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ 180 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ขณะที่ปัจจุบันทั้งประเทศมีความต้องการใช้น้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลล์ต่อวัน ต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ถือเป็นสัดส่วนน้อยมาก อีกทั้งผลประโยชน์ที่ได้รับจากแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าว อายุสัมปทานเดิมภาครัฐได้ประโยชน์ร้อยละ 63 เชฟรอนได้รับร้อยละ 37 เมื่อต่ออายุสัมปทาน 10 ปี ภาครัฐได้รับประโยชน์ร้อยละ 71 เชฟรอนได้รับประโยชน์ร้อยละ 29 หรือประมาณ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลยื่นข้อเสนอรับผลประโยชน์หรือเป็นโบนัสพิเศษเพิ่ม 0.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องชำระภายใน 30 วันนับจากวันลงนาม, โบนัสจากการผลิตปิโตรเลียมร้อยละ 1 ของมูลค่าปิโตรเลียม โดยไม่ต่ำกว่า 1.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโบนัสสำหรับช่วยเหลือทางสังคม 0.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงระยะเวลา 10 ปี เริ่มจ่ายปี 2561
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.รายได้ปิโตรเลียมกำหนดให้ผู้รับสัมปทานจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีรองรับการรื้อถอนอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร จนกว่าครบกำหนดสัญญาสัมปทาน เพราะหากภาคเอกชนผู้รับสัมปทานไม่ยอมรื้อถอนรัฐบาลต้องใช้งบประมาณเข้าไปรื้อถอนเครื่องจักร อุปกรณ์ ดังนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี เมื่อครบสัญญาสัมปทานสามารถเบิกเงินดังกล่าวไปใช้รื้อถือนได้และนำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ เพื่อจูงการลงทุนด้านปิโตรเลียม.-สำนักข่าวไทย