นนทบุรี 25 ต.ค. – กรมการค้าต่างประเทศเผยการค้าชายแดนและผ่านแดน 9 เดือนแรกของปี 2561 โตต่อเนื่องกว่า 1.04 ล้านล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 6.14 มั่นใจทั้งปีได้แน่ 1.5 ล้านล้านบาท
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย 9 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-ก.ย) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่า 1,036,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.14 โดยเป็นการส่งออก 584,791 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.29 จากปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ขณะที่การนำเข้า 452,073 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.80 เกินดุลการค้า 132,718 ล้านบาท แยกเป็นมูลค่าการค้าชายแดน 834,354 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.13 เป็นการส่งออก 485,977 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.77 นำเข้า 348,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.83 เกินดุลการค้า 137,599 ล้านบาท และมูลค่าการค้าผ่านแดน 202,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.33 เป็นการส่งออก 98,814 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.16 นำเข้า 103,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.49 ขาดดุลการค้า 4,882 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สถิติการค้าชายแดนแยกเป็นรายประเทศ พบว่า การค้ากับมาเลเซียยังคงนำเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 426,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.36 เป็นการส่งออก 221,410 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.65 นำเข้า 204,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.72 ตามมาด้วย สปป.ลาว มูลค่า 158,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.01 เป็นการส่งออก 96,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.63 นำเข้า 61,883 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.67 เมียนมา มูลค่า 143,884 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.94 เป็นการส่งออก 79,807 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.39 นำเข้ามูลค่า 64,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.58 และกัมพูชา มูลค่า 105,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.08 เป็นการส่งออก 87,913 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.26 นำเข้า 17,634 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.20
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในช่วงระยะนี้ คือ การที่ประเทศเมียนมากำลังประสบปัญหาอุทกภัย ทำให้เส้นทางคมนาคมขนส่งไม่สะดวก ประกอบกับค่าเงินจ๊าดอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การค้าชะลอตัวลง หากปัจจัยดังกล่าวดีขึ้นคาดว่าจะทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง เพื่อใช้ในการซ่อมแซม ก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนการส่งออกสินค้าทางด้านมาเลเซีย ยังชะลอตัวลงจากปริมาณการส่งออกยางพาราผลิตภัณฑ์ยางที่ลดลง รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นของภาคใต้ คือ ปาล์มน้ำมันและมะพร้าว นอกจากนี้ ภาคใต้ เช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยังได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าชายแดนไทย ขณะที่ด้านกัมพูชาเดือนกันยายน ไปได้ดีมีการส่งออกขยายตัวมากถึงร้อยละ 34 เนื่องจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มฯ ดังนั้น กรมฯ ยังมั่นใจว่าปีนี้จากเป้าหมายตัวเลขที่ตั้งไว้ค้าชายแดนและผ่านแดนจะมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 15 หรือมีมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาทได้แน่นอน
สำหรับปี 2562 กรมฯ ยังเดินหน้าจัดกิจกรรมกระตุ้นการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เช่น 1.โครงการ YEN-D ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ซึ่งจะขยายจากเดิมที่สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทย โดยจับคู่ระหว่างไทยกับ CLMV เป็น YEN-D Plus ขยายไปสู่อินโดนีเซียและมาเลเซีย รวมทั้งจะเพิ่มการสร้างเครือข่ายภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC (หลวงพระบาง–อินโดจีน-เมาะลำไย) เพื่อเชื่อมโยงจังหวัดภาคเหนือตอนล่างของไทย ประกอบด้วย อุตรดิตถ์ ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และพิษณุโลก กับแขวงไซยะบุรี และแขวงหลวงพระบางของ สปป.ลาว รัฐกระเหรี่ยงและรัฐมอญของเมียนมา 2.งานมหกรรมการค้าชายแดน 4 ภูมิภาค โดยเริ่มที่จังหวัดสระแก้วช่วงปลายปี ต่อด้วยเชียงราย นราธิวาส และมุกดาหาร ซึ่งจะเน้นให้นำสินค้าต่างภาคมาออกร้าน เช่น งานมหกรรมที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็น 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่รัฐบาลต้องการเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ กรมฯ จะนำสินค้าจากภาคเหนือลงสู่ใต้ในขณะที่งานมหกรรมการค้าที่จังหวัดเชียงรายจะนำสินค้าจากใต้ขึ้นเหนือ เป็นต้น โดยกรมฯ หวังว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถขับเคลื่อนการค้าชายแดนปี 2562 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้.-สำนักข่าวไทย