กทม. 21 ต.ค. – ตำรวจเล็งใช้มาตรการใหม่ ส่งใบสั่งถึงบ้าน ต้องมีคนเซ็นรับ เร่งเชื่อมฐานข้อมูลออนไลน์กับขนส่ง หลังพบคนทำผิดจราจรได้รับใบสั่งแล้วไม่ยอมเสียค่าปรับพุ่งสูง
หลังมีข้อมูลสถิติผู้กระทำความผิดที่ได้รับใบสั่งไม่มาชำระค่าปรับจำนวนมาก อาจเพราะประชาชนไม่เกรงกลัวกฎหมายนั้น เรื่องนี้ พลตำรวจโทไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการสำนักยุทธศาสตร์ ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามผลบูรณาการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขต กทม. และปริมณฑล ระบุว่า เตรียมเสนอที่ประชุม ให้ส่งข้อมูลใบสั่งไปยังตำรวจท้องที่ เพื่อส่งมอบให้ผู้กระทำผิดถึงบ้าน นอกเหนือจากส่งไปรษณีย์ ลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่นำหมายไปติดที่บ้าน โดยต้องมีผู้รับเซ็นรับทราบ รวมถึงจะส่งข้อมูลไปยังกรมขนส่งทางบกด้วย ซึ่งในการประชุมฯ คาดว่า กรมการขนส่งทางบกจะให้คำตอบจะเริ่มเชื่อมต่อฐานข้อมูลระบบใบสั่งออนไลน์ได้เมื่อใด ซึ่งจะส่งผลให้หากได้ใบสั่งแล้วไม่มาชำระค่าปรับเมื่อนำรถไปต่อภาษีประจำปีจะถูกอายัดทันที
สถิติใบสั่งจราจรในระบบ PTM หรือใบสั่งอัตโนมัติ ส่งถึงบ้าน เมื่อ 7 ตุลาคม 61 มีการออกใบสั่งจราจร รวมกว่า 13.5 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้กระทำผิดชำระค่าปรับกว่า 2.3 ล้านราย ค้างชำระ 11.2 ล้านราย หรือร้อยละ 83
สำหรับประเภทใบสั่งแยกเป็น แบบสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดและบันทึกในระบบ 2.3 ล้านราย มีผู้กระทำผิดมาชำระค่าปรับ 970,000 ราย ค้างชำระค่าปรับ 1.3 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 58.2 แบบส่งทางไปรษณีย์ 11.2 ล้านราย มีผู้มาชำระค่าปรับ 1.4 ล้านราย ค้างชำระ 9.8 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 88
ด้านนาย กมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยอมรับว่า ยังมีปัญหาในการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงาน ทำให้แม้ประชาชนค้างชำระใบสั่งจราจร ก็ยังสามารถนำรถไปต่อภาษีรถยนต์ได้ เนื่องจากยังมีรายละเอียดหลายขั้นตอนที่ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งข้อมูลพื้นตัวระบบเทคโนโลยี ฐานข้อมูลรถยนต์ และการให้บริการประชาชน ที่สำคัญบางกรณีเป็นรถที่ใช้ลักษณะโอนลอยที่ผู้ขับขี่กับเจ้าของทะเบียนไม่ใช่คนเดียวกัน จึงต้องหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป ปัจจุบันมีผู้มาต่อภาษีรถกว่าวันละ 200,000 คัน ซึ่งหากนำใบสั่งมาเป็นส่วนในการต่อภาษีด้วยจะต้องมีการปรับแก้ทั้งระบบ ส่งผลต่อความรวดเร็วในการบริการที่จะเกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นานการเชื่องต่อระบบของ 2 หน่วยงานจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ .- สำนักข่าวไทย