กรุงเทพฯ 19 ต.ค. – หลังกระทรวงศึกษาธิการ พบข้อมูลว่า ร้านศึกษาภัณฑ์ที่ขายอุปกรณ์การเรียนเเละตำราเเบบเรียนต่างๆ กำลังเผชิญภาวะขาดทุนหนัก จึงมีการเสนอเเนวคิดให้ยุบบางสาขา สำนักข่าวไทยเปิดข้อมูลกำไร-ขาดทุนของทุกสาขา รวมถึงมาตรการปรับตัว
ศึกษาภัณฑ์ลาดพร้าว เป็นสาขาที่ขาดทุนน้อยที่สุด จากทั้งหมด 10 สาขา ขาดทุนรวมกว่า 14 ล้านบาท อาทิ ราชดำเนินขาดทุนกว่า 10 ล้านบาท อ้อมน้อย 7 ล้านบาท สาเหตุส่วนใหญ่ คือ ราคาเช่าที่ดินสูง เพราะมี 5 สาขาไม่ได้อยู่ในที่ดินขององค์การค้าฯ อย่างราชดำเนิน ค่าเช่าเดือนละ 900,000 บาท อัตราเงินเดือนของพนักงานที่เพิ่มขึ้นตามความอาวุโส ปีละกว่า 700 ล้านบาท เเละขายสินค้าถูกกว่าท้องตลาด เพราะมีหน้าที่ต้องพยุงราคา แต่ภาพรวมยอดขายกลับดีขึ้น ปีที่เเล้วได้กำไร 100 ล้านบาท
ศึกษาภัณฑ์เร่งปรับตัว หลังขาดทุนต่อเนื่อง 20 ปี ซ้ำ สสวท.ตัดโควตาจัดพิมพ์เเบบเรียนเหลือร้อยละ 70 รายได้หายไป จึงหันมาผลิตอุปกรณ์การเรียน อาทิ ดินสอสี เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ปรับเเผนเชิงรุก เข้าหาลูกค้า ขยายเวลาเปิด-ปิดร้าน หาช่องทางขายออนไลน์ ย้ายที่ตั้งบางสาขาที่ค่าเช่าสูง เเต่สาขาราชดำเนิน ยังคงไว้เป็นประวัติศาสตร์ เเค่ย้ายชั่วคราวไปราชบพิธ เพราะสำนักงานทรัพย์สินฯ เข้าปรับปรุงพื้นที่ พร้อมต่อรองค่าเช่าให้ถูกลง ไม่ปลดพนักงาน พร้อมเรียกผู้จัดการ 10 สาขา หารือวันจันทร์นี้ ยืนยันไม่ยุบสาขาแน่นอน
สกสค.เสนอเเนวคิดให้องค์การค้าฯ ปรับตัว เพราะมีหนี้สินที่ต้องจ่ายเร่งด่วนกว่า 1,300 ล้านบาท เเละหนี้สินสะสมจากอดีตอีกกว่า 3,900 ล้านบาท อาจไม่ถึงขั้นยุบ เเต่ไม่ใช่ปล่อยให้ขาดทุนเรื่อยๆ แนะ 3 แนวทาง คือ หาเงินปลดหนี้ ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ บริหารจัดการทรัพย์สินที่องค์การค้าฯ มีอยู่ เช่น ให้เช่าที่ดิน หรือขายเพื่อหารายได้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายให้ สพฐ. และ กศน. ใช้บริการองค์การค้าฯ จัดพิมพ์เอกสาร อย่างไรก็ตาม องค์การค้าฯ ต้องพัฒนาศักยภาพตัวเอง อยู่นิ่งไม่ได้
ร้านศึกษาภัณฑ์ขององค์การค้าฯ เปิดให้บริการมากว่า 70 ปี มี 10 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 9 สาขา อาทิ ราชดำเนิน คุรุสภา ท้องฟ้าจำลอง เซียร์รังสิต และมี 1 สาขาในต่างจังหวัด คือ อุตรดิตถ์ มีพนักงานทั้งหมดกว่า 200 คน ขณะที่องค์การค้าฯ แม้เป็นหน่วยงานในกำกับของ สกสค. กระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐ จึงต้องใช้รายได้บริหารองค์กร. – สำนักข่าวไทย